คนที่ชอบกดอีโมจิ "Care" มีแนวโน้มพูดไม่เก่ง แต่มักเป็นผู้สนับสนุนแบบเงียบ ๆ

นพ.เจษฎา ทองเถาว์ แพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ จิตแพทย์ประจำ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี ได้ดพสต์ข้อความลงบนเฟศบุ๊ก "คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา" ระบุว่า
เมื่อจิตแพทย์รีวิว Emoji “Care” "ไม่ใช่แค่อีโมจิแต่มันคืออ้อมกอดระยะไกล”
ในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยอีโมจิแสดงอารมณ์มากมาย มีอีโมจิหนึ่งที่ไม่ใช่การหัวเราะ ไม่ใช่การรัก ไม่ใช่การโกรธ แต่กลับทำให้หลายคนรู้สึกอุ่นใจได้อย่างเงียบๆ
อีโมจิที่ว่านี้คือ “Care” ภาพหน้ายิ้มกอดหัวใจ ซึ่ง Facebook เปิดตัวในปี 2020 ช่วงโควิดระบาด เพื่อให้ผู้คนส่งความห่วงใยกันในวันที่ไม่สามารถเจอกันได้
และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ emoji นี้กลายเป็นเครื่องมือบำบัดจิตใจแบบเบาๆ ที่ใช้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในโพสต์ที่เกี่ยวกับความสูญเสีย ความเศร้า หรือความเหนื่อยล้าในชีวิต
นักจิตวิทยาสื่อสารกล่าวว่า “Care” คือการสื่อสารแบบไม่รุกเร้า (non-intrusive empathy) ไม่สอน ไม่แก้ไข แต่อยู่ข้างๆ อย่างสงบ มันต่างจาก “Like” ที่เน้นการเห็นด้วย หรือ “Love” ที่อาจดูแรงเกินไปในบางบริบท ในโพสต์ที่เศร้าหรือสะเทือนใจ เรามักรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้รับ ‘Care’ เพราะมันแปลว่า “ฉันจะอยู่กับคุณ โดยไม่ต้องพูดอะไรก็ได้”
สมองมนุษย์ตอบสนองต่อ "Care" เหมือนการได้รับอ้อมกอด
งานวิจัยพบว่าแม้เพียงการเห็น emoji ที่สื่อถึงการกอด จะสามารถกระตุ้นสมองส่วน ที่สัมพันธ์กับความผูกพันได้ใกล้เคียงกับการได้รับสัมผัสจริง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมบางครั้งแค่เห็น Care จากเพื่อน ใจเราก็เบาขึ้นทันที
คนที่กด "Care" มักไม่ใช่คนที่พูดเยอะ แต่คือคนที่รับฟังเก่ง
คนที่เลือกกดใช้อีโมจินี้มักมีแนวโน้มเป็นผู้สนับสนุนแบบเงียบๆ (silent supporter)
พวกเขามักไม่ค่อยชอบคอมเมนต์ยาวๆ ไม่ต้องรู้จักกันลึก แต่การกด Care คือการยืนยันว่า “ฉันเห็นความรู้สึกของเธออยู่”
มีลูกเพจคนหนึ่งเคยส่งข้อความมาหาหมอว่า “วันที่หนูโพสต์ว่าคิดถึงพ่อที่เพิ่งจากไป ไม่มีใครมาคอมเมนต์เลยค่ะ แต่มีคนมากด Care 14 คน หนูดูอยู่หลายรอบมาก มันช่วยให้หนูไม่รู้สึกโดดเดี่ยว”
น่าสนใจเหมือนกันนะครับที่อีโมจิไม่กี่พิกเซล สามารถเปลี่ยนวันที่เศร้าๆ ให้มีแสงบางๆ แทรกเข้ามาได้
ใช้ "Care" อย่างไรให้สื่อใจได้จริง
- กดในโพสต์ที่มีความเศร้า เหนื่อย หรือความสูญเสีย แทนการใช้ Like หรือ Heart
- ใช้ร่วมกับคอมเมนต์สั้นๆ เช่น “อยู่ตรงนี้นะ” หรือ “ขอส่งความห่วงใยผ่านอีโมจินี้ครับ”
- ระวังการใช้ "Care" ในโพสต์ที่มีเนื้อหาตลกหรือประชด เพราะอาจสร้างความสับสนทางอารมณ์ได้