รีเซต

“ลิเวอร์พูล” สโมสรฟุตบอลที่ขับเคลื่อนด้วยนักฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และ Data Science อยู่เบื้องหลัง

“ลิเวอร์พูล” สโมสรฟุตบอลที่ขับเคลื่อนด้วยนักฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และ Data Science อยู่เบื้องหลัง
TNN ช่อง16
2 ธันวาคม 2567 ( 13:23 )
25

หากใครติดตามการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก (Premier League) จะทราบเป็นอย่างดีว่าในฤดูกาลปัจจุบันนั้นลิเวอร์พูล (Liverpool) กำลังเป็นจ่าฝูงขึ้นนำด้วยคะแนน 34 แต้ม จากการแข่ง 13 นัด แต่นอกจากฝีเท้านักเตะ โค้ช และการบริหารทีมแล้ว นักฟิสิกส์ และข้อมูลทางคณิตศาสตร์กับสถิติ คือ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ลิเวอร์พูลมีการพัฒนาขึ้นมา


จุดเริ่มต้นการพัฒนาทีมลิเวอร์พูลด้วยนักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์

ย้อนกลับไปในปี 2010 เฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป (Fenway Sports Group) ได้บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูลจากเจ้าของเดิมในช่วงที่สโมสรมีผลงานย่ำแย่ 


จอห์น ดับเบิลยู. เฮนรี (John W. Henry) หนึ่งในเจ้าของเฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป นั้นไม่เชื่อว่าการบริหารและการพัฒนาทีมด้วยเทคนิค หรือแรงเชียร์และความเห็นจากฟุตบอลดั้งเดิมจะช่วยพัฒนาทีมได้ จึงได้เลือกใช้นักคณิตศาสตร์เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาผลงานทีมแทน


โดยแนวคิดของเฮนรีได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์เรื่องมันนีบอล (Moneyball) ที่สร้างจากเรื่องจริงของโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ (Oakland Athletics) ทีมเบสบอล (Baseball) ที่พลิกวิธีการบริหาร การวิเคราะห์เกม รวมถึงหาตัวนักกีฬา (Scouting) ด้วยข้อมูลทางคณิตศาสตร์


ในภาพยนตร์เรื่องมันนีบอล สิ่งที่สโมสรในเวลานั้นใช้ตัดสินใจ คือ ข้อมูลการแข่งขันที่มีการตีความด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์ หรือเรียกว่าดาตา ไซแอนซ์ (Data Science) ที่นำชุดข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมมาแปลงเป็นความหมายในการวิเคราะห์


(สปอยล์: เรื่องของเฮนรีมีส่วนพูดถึงในช่วงท้ายเรื่องภาพยนตร์มันนีบอลด้วยเช่นกัน โดยปรากฏในฐานะเจ้าของทีมเรด ฟ็อกซ์ - Red Fox ที่ต้องการดึงผู้จัดการทีม Oakland Athletics ย้ายมาทีมตัวเอง) 


นักฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ทีมลิเวอร์พูล

เรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับทีมโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ ทำให้จอห์น ดับเบิลยู. เฮนรี ได้ตัดสินใจจ้างเอียน กราแฮม (Ian Graham) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) มาเป็นหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ (Chief Analyst) ของทีมในปี 2012


ข้อมูลที่เอียน กราแฮมและทีมงานได้นำมาวิเคราะห์ได้สร้างการตัดสินใจครั้งสำคัญที่พลิกประวัติศาสตร์ของสโมสร เช่น การสนับสนุนให้ผู้บริหารเลือกจ้างเจอร์เกน คล็อปป์ (Jürgen Klopp หรือเยือร์เกิน คล็อพในภาษาเยอรมัน) ในปี 2015 และการทำสัญญานักเตะกับโมฮาเหม็ด ซาลาห์ (Mohamed Salah) กองหน้าสัญชาติอิยิปต์ในปี 2017


ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2015 - 2024 คล็อปป์ ได้พาทีมคว้าทุกถ้วยรางวัลสำคัญในการแข่งขัน เช่น พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2019 - 2020 เอฟเอคัพ (FA Cup) 2021 - 2022 ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก (UEFA Champions League) 2018 - 2019 และอื่น ๆ ที่ทำให้แฟนบอลทีมลิเวอร์พูล “ศรัทธา” ในตัวคล็อปป์ รวมถึงได้รับการยอมรับจากแฟนบอลทีมอื่น ๆ ในยุคของเขาเช่นกัน


ในขณะที่โมฮาเหม็ด ซาลาห์ (Mohamed Salah) ตลอดระยะเวลาการเป็นนักฟุตบอลอาชีพในตำแหน่งกองหน้า ได้ลงเล่นทั้ง 276 นัด ยิงไป 168 ประตู และมีส่วนช่วยยิงหรือแอสซิสต์ (Assist) ไปกว่า 76 ประตู ซึ่งสถิตินี้มาจากทีมเดิมอย่างเชลซี (Chelsea) เพียงแค่ 2 ประตู จากการลงเล่นเพียง 13 ครั้ง เท่านั้น


ลิเวอร์พูล - ทีมที่ขับเคลื่อนด้วยนักฟิสิกส์

เอียน กราแฮมได้ทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย (Director of Resecrh) ของสโมสรจนถึงปี 2022 ก่อนสิ้นสุดการทำงานกับทีม และเขียนหนังสือ How to Win the Premier League: The Inside Story of Football's Data Revolution ซึ่งเผยถึงความสำคัญของข้อมูลในการบริหารและพัฒนาฟุตบอล


โดยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยคนใหม่ของลิเวอร์พูลที่รับไม้ต่อก็คือ วิลเลียม สเปียร์แมน (William Spearman) นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษที่จบการศึกษาด้านฟิสิกส์อนุภาค (Particle Physics) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ในสหรัฐอเมริกา และเคยทำงานเป็นนักวิจัยให้กับองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือเซิร์น (CERN: Conseil Européen pour la Recherche Nucléair) มาก่อน 


ลิเวอร์พูลยังคงเปิดรับนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล (Lead Data Scientist) เป็นระยะ โดยครั้งล่าสุดได้รับสมัครงานในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีคุณสมบัติจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ หรือคณิตศาสตร์ และมีประสบการณ์ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลไม่น้อยกว่า 5 ปี พร้อมเงินเดือนตามราคาตลาด ซึ่งกลาสดอร์ (Glassdoor) บริษัทด้านจัดหางานระบุว่า รายได้ตำแหน่ง Lead Data Scientist ในอังกฤษเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 80,000 ปอนด์ หรือประมาณ 3,500,000 บาท 


ข้อมูล Sky SportsLiverpool FCGlassdoorWikipediaLiverpool.comLinkedInPremier League, Trym Sorum/Medium

ภาพ REUTERS / NICHE MEDIA


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง