รีเซต

“โซลาร์เซลล์” แนวใหม่ พับและกางออกได้เหมือนหีบเพลง

“โซลาร์เซลล์” แนวใหม่ พับและกางออกได้เหมือนหีบเพลง
TNN ช่อง16
22 มีนาคม 2567 ( 16:51 )
25
“โซลาร์เซลล์” แนวใหม่ พับและกางออกได้เหมือนหีบเพลง

บริษัทด้านพลังงานจากประเทสออสเตรีย โซลาร์คอนต์ (SolarCont) ออกแบบการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์แนวใหม่ในรูปแบบของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุแผงโซลาร์เซลล์ที่พับเก็บและกางออกมาใช้งานได้ คล้ายกับการกางหีบเพลง ทำให้ขนย้ายไปติดตั้งใช้งานได้หลายพื้นที่ ขยายโอกาสในการใช้โซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


ภาพจาก Solarcont

 

นวัตกรรมนี้มีชื่อเรียกว่า โซลาร์คอนเทนเนอร์ (Solar Container) หน้าตาคล้ายกับตู้คอนเทนเนอร์แบบโปร่ง ที่มีความยาว 6 เมตร กว้าง 2.4 เมตร และสูง 2.9 เมตร หนักประมาณ 20 ตัน ซึ่งด้านในจะประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ 240 แผง ที่พับซ้อนทับกันอยู่ภายใน เมื่อต้องการใช้งาน ก็เพียงแค่ติดตั้งตู้ บริเวณพื้นที่โล่งที่ต้องการ แล้วยึดตู้ให้เรียบร้อย จากนั้นจึงประกอบชิ้นส่วนของราง ที่จะรองรับแผงโซลาร์เซลล์ ที่จะคลี่ออกจากตู้คอนเทนเนอร์ไปตามความยาวของราง


ส่วนวิธีการกางแผงโซลาร์เซลล์ออกจากตู้นั้น จะใช้ระบบสายพานลำเลียงอัตโนมัติ ซึ่งเปิดใช้งานได้ด้วยการคลิกปุ่มเพียงปุ่มเดียว สั่งให้ตัวแผงโซลาร์เซลล์ที่ซ้อนทับกันอยู่ภายใน คลี่แผ่ออกไปตามความยาวของราง จนกลายเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่ยาวรวมกันถึง 120 เมตร และให้กำลังการผลิตสูงสุดที่ 140 กิโลวัตต์ และเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ก็สามารถพับเก็บได้ โดยใช้การกดปุ่มให้ตัวแผงโซลาร์เซลล์ เลื่อนกลับเข้ามาซ้อนกันในตู้ได้ดังเดิม


สำหรับความสามารถในการผลิตไฟฟ้า ทางบริษัทประเมินว่า ระบบนี้จะจ่ายพลังงานได้ประมาณ 32 ครัวเรือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประเมินจากการใช้พลังงานเฉลี่ยของครัวเรือนที่มีสมาชิก 4 คน ซึ่งจะใช้พลังงานอยู่ที่ราว 4,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี แต่ถึงแม้ว่าตัวตู้จะมีข้อดีคือสามารถเคลื่อนย้ายได้ โดยไม่ต้องสร้างฐานรองรับ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดคือกระบวนการขนย้ายและการกางแผงโซลาร์เซลล์ออกจากตู้ เพราะยังต้องอาศัยการควบคุมของผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 4 คน และใช้เวลาในการประกอบระบบทั้งสิ้นประมาณ 5 ชั่วโมง จึงจะพร้อมใช้งาน


อย่างไรก็ตาม โซลาร์คอนเทนเนอร์ ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้า ที่มีจุดเด่นคืในการเป็นแหล่งพลังงานสำรอง สำหรับใช้งานในพื้นที่ห่างไกล และพื้นที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ เนื่องจากสามารถขนส่งได้ง่าย และยังจ่ายไฟได้เสถียรอีกด้วย




ข้อมูลจาก tech-gate, pv-magazine, designboomsolarcontainer

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง