รีเซต

ใช้รถโดยสารสาธารณะอย่างไร ให้ปลอดภัยโควิด-19

ใช้รถโดยสารสาธารณะอย่างไร ให้ปลอดภัยโควิด-19
Ingonn
29 เมษายน 2564 ( 10:52 )
2.5K

ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตประจำวันของคนเรายังต้องใช้การเดินทางขนส่งสาธารณะที่ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง รถตู้โดยสาร รถแท็กซี่ หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทั้งในชั่วโมงเร่งด่วน ที่มีคนจำนวนมาก เนื่องจากเป็นการบริการที่รวดเร็วและสะดวก

 

แต่ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิ-19 ทำให้การเดินทางประเภทนี้เกิดความเสี่ยงต่อการระบาดจากคนสู่คนมากขึ้น และยังมีอีกหลายคนที่ยังจำเป็นต้องใช้ขนส่งสาธารณะเพื่อใช้การเดินทาง

 

วันนี้ True ID จึงแนะนำวิธีป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อต้องเดินทางโดยรถสาธารณะ เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อทั้งผู้โดยสารและผู้ประกอบการขนส่ง

 

 

วิธีป้องกันตัวเองจากโควิด-19 เมื่อต้องโดยสารสาธารณะ

 


1.สวมหน้ากากอนามัย / หน้ากากผ้าตลอดเวลา 

อย่าสัมผัส จมูก ตา และปาก หากใช้กระดาษทิชชูจับราวก็ควรทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด

 

2.หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป เมื่อหยิบจับหรือสัมผัสสิ่งของ

ลดการจับเสาและราวตามรถขนส่งสาธารณะ หากไม่สามารถทำได้ ควรใช้เจล หรือ สเปรย์แอลกอฮอล์ล้างทำความสะอาดมือทันทีหลังจากออกจากระบบขนส่งสาธารณะ 

 

3.เลี่ยงการขึ้นรถที่มีคนแออัดจำนวนมาก

หากสามารถรอรถรอบต่อไปได้ ควรรอรถรอบที่มีคนจำนวนน้อย ไม่แออัด เพื่อรักษาระยะห่าง

 

4.งดพูดคุย / คุยโทรศัพท์โดยไม่จำเป็น

ในขณะที่ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะควรสัมผัสโทรศัพท์มือถือให้น้อยที่สุด โดยลดการสัมผัสโทรศัพท์มือถือ เช่น เปลี่ยนที่พกโทรศัพท์ ตอนแรกอาจพกโทรศัพท์มือถือไว้ในกระเป๋ากางเกงเป็นประจำ ให้เปลี่ยนมาใส่ไว้ในกระเป๋าแทน

 

5.ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ ในขณะที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ

เนื่องจากมีโอกาสสูงที่จะสัมผัสถูกใบหน้าของตนเอง

 

6.เลี่ยงการใช้รถสาธารณะโดยไม่จำเป็น

 

7.หลังกลับถึงบ้านควรอาบน้ำ สระผม ชำระล้างร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้า

เพราะเสื้อผ้าภายนอกอาจจะมีโอกาสบนเปื้อนเชื้อโรคอยู่ด้วย

 

 


หากต้องเดินทางด้วยพาหนะอื่นๆ

1.เดินทางด้วยเครื่องบิน

หากต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่ออยู่ในบริเวณสนามบินและบนเครื่องบิน ให้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด โดยทางสายการบินจะกำหนดสัญลักษณ์ไว้ให้สำหรับผู้เดินทาง เช่น  พื้นที่เช็คอิน สะพานเทียบอากาศยาน และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน รวมถึงกรอกแบบสำรวจการเดินทาง หรือแบบฟอร์มของสาธารณสุขจังหวัด เพื่อเก็บข้อมูลการเดินทาง

 

2.เดินทางด้วยรถไฟ รถไฟฟ้า 

ให้พยายามหลีกเลี่ยงช่วงเวลาแออัด หรือควรเลือกเส้นทางที่มีประชาชนไม่หนาแน่นมาก โดยควรเว้นระยะห่าง 2 เมตรเมื่อทำได้ และรอให้ผู้โดยสารภายในขบวนออกจนหมดก่อนที่จะขึ้นไป

 

3.เดินทางด้วยรถแท็กซี่

กรณีโดยสารรถแท็กซี่ควรนั่งตอนหลังของรถเท่านั้น เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างผู้ขับรถและผู้โดยสาร ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงการติดต่อของเชื้อไวรัส และควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะโดยสารบนรถ

 

4.เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์รับจ้าง

การโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้าง ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง งดพูดคุยโทรศัพท์ระหว่างโดยสาร ควรนั่งข้างแทนการนั่งคร่อมเบาะโดยสาร ทั้งพยายามพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือติดตัวตลอดเวลา และหมั่นล้างมือบ่อยๆ

 

 

นอกจากเราที่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้ว หน่วยงานขนส่งสาธารณะก็ต้องมีมาตรการการป้องกันโควิด-19 เพื่อลดการแพร่เชื้อสู่ผู้โดยสารเช่นเดียวกัน

 


มาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 สำหรับขนส่งสาธารณะ


สำหรับการเดินทางประเภทรถไฟฟ้าหรือรถโดยสารประจำทางที่เป็นที่นิยมใช้กันเป็นหลัก มีผู้คนมากมายที่เข้าไปแออัดในรถยนต์คันนั้นหรือรถไฟฟ้าขบวนนั้นโดยเฉพาะเวลาเร่งรีบ ดังนั้นจึงควรมีมาตรการป้องกัน ดังนี้

 

1.มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการฆ่าเชื้อ 

ดูแลความสะอาด อย่างน้อยทุกๆ 2 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้นในชั่วโมงเร่งรีบที่ผู้โดยสารแออัดในบริเวณที่จำหน่ายตั๋วโดยสารที่คนไปยืนรอจำนวนมาก ห้องสุขา หรือสถานที่จำหน่ายอาหาร เป็นต้น การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายตั๋วโดยสารก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เช่น เพิ่มจุดจำหน่าย การเปิดช่องทางจำหน่ายในระบบออนไลน์ เพื่อลดการกระจุกตัวอย่างหนาแน่นของผู้โดยสาร 

 

2.เน้นความสะอาดจุดเสี่ยงซึ่งเกิดจากผู้โดยสารมีการสัมผัสบ่อย 

เช่น ราวจับในรถ ที่จับประตู ที่เท้าแขน ปุ่มกดจำหน่ายตั๋ว โดยสามารถทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาด และแอกอฮอล์ 70% 

 

3.จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้ทั่วถึง 

เช่น หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจล เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารในจุดที่เข้าถึงง่าย เช่น บริเวณทางขึ้นรถโดยสารประจำทาง จุดจำหน่ายตั๋ว 

 

4.พนักงานผู้ให้บริการควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นทำความสะอาดมือให้บ่อยครั้งด้วยน้ำสบู่และแอลกอฮอล์เจล 

รวมถึงสังเกตอาการของเพื่อนร่วมงาน ผู้โดยสาร หากพบอาการน่าสงสัยจากการติดเชื้อให้รายงานและให้บุคคลนั้นไปพบแพทย์โดยเร็ว

 

 

 


มาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 สำหรับรถสาธารณะไม่ประจำทาง


นอกจากนี้เรายังมีการเดินทางอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ การเดินทางด้วยรถสาธารณะไม่ประจำทาง ได้แก่ รถตู้โดยสาร หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า รถตู้วิน รถแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และการเดินทางประเภทนี้ก็สร้างความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้การเดินทางประเภทนี้

 

1.ผู้ให้บริการควรใส่ใจและมีมาตรการป้องกันที่เด็ดขาดที่จะไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสมากขึ้น 

มาตรการที่สามารถทำได้ เริ่มจากการให้ความรู้ ข้อปฏิบัติท่ามกลางความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแก่บุคลากร 

 

2.ทำความสะอาดจุดเสี่ยง 

นั่นก็คือ จุดรอขึ้นรถ เคาน์เตอร์ที่ผู้โดยสารเข้ามาติดต่อ เป็นต้น รวมถึงการทำความสะอาดยานพาหนะ ได้แก่ เบาะที่นั่ง ที่เท้าแขน ราวจับเหนือหัวผู้โดยสาร กระจกภายในรถ แฮนด์มอเตอร์ไซค์ ซึ่งล้วนเป็นจุดที่มีการสัมผัสจากผู้โดยสารหลายครั้ง 

 

3.จัดเตรียมหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจลให้พนักงานและผู้โดยสาร 

โดยพนักงานขับควรสวมหน้ากากไว้เสมอเมื่อมีผู้โดยสาร 

 

4.ลดกระจกให้อากาศถ่ายเท

หากเป็นรถยนต์ก็สามารถเพิ่มการถ่ายเทของอากาศได้ด้วยการลดกระจกลงเล็กน้อย 

 

5.ป่วยอย่าฝืน

ผู้ให้บริการมีอาการป่วยและมีอาการที่คาดว่าสงสัยจากการติดเชื้อควรแจ้งให้บริษัทต้นสังกัดรับทราบ และทางบริษัทควรที่จะพิจารณาให้หยุดงานและควรให้พบแพทย์ทันที

 

6.ขอความร่วมมือจากผู้โดยสารให้ใส่หน้ากากอนามัย 

โดยเฉพาะมีอาการไอ จาม หรือมีน้ำมูก และที่สำคัญ

 

 

 


ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข , สสส.

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง