นาโต้ คืออะไร? ทำความรู้จัก องค์การนาโต กับสถานการณ์วิกฤต "รัสเซีย-ยูเครน"
ข่าววันนี้ จากสถานการณ์วิกฤตระหว่าง ประเทศรัสเซีย และประเทศยูเครน วันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ 2 ยังคงดุเดือด โดยหลากหลายประเทศต่างแสดงท่าทีหวังให้สถานการณ์ยุติโดยเร็วที่สุด รวมทั้ง นาโต้ (NATO) ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่า นาโต้ คืออะไร? นาโต้ คือใคร? ทำไมชื่อนี้เข้ามามีบทบบาทต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกัน
นาโต้ คืออะไร?
สำหรับ นาโต หรือ NATO เป็นองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization) ย่อว่า เนโท หรือ ออต็องหรือ นาโต้ (ตามที่คนไทยเรียก) เป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างรัฐบาล
นาโต้ เกิดขึ้นเมื่อไหร่?
นาโตก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1949 ปัจจุบันมีสมาชิก 30 ประเทศ องค์การนี้ดำเนินการตามสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือที่ลงนามในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1949
นาโต มีสมาชิกกี่ประเทศ?
โดยปัจจุบัน NATO มีสมาชิกทั้งหมด 30 ประเทศ ซึ่ง 27 ประเทศอยู่ในยุโรป 2 ประเทศในอเมริกาเหนือ และอีก 1 ประเทศในยูเรเซีย ได้แก่
- แอลเบเนีย
- เบลเยียม
- บัลแกเรีย
- แคนาดา
- โครเอเชีย
- สาธารณรัฐเช็ก
- เดนมาร์ก
- เอสโตเนีย
- ฝรั่งเศส
- เยอรมนี
- กรีซ
- ฮังการี
- ไอซ์แลนด์
- อิตาลี
- ลัตเวีย
- ลิทัวเนีย
- ลักเซมเบิร์ก
- มอนเตเนโกร
- เนเธอร์แลนด์
- มาซิโดเนียเหนือ
- นอร์เวย์
- โปแลนด์
- โปรตุเกส
- โรมาเนีย
- สโลวาเกีย
- สโลวีเนีย
- สเปน
- ตุรกี
- สหราชอาณาจักร
- สหรัฐอเมริกา
ประวัติ นาโต กับจุดเริ่มต้น
จากการลงนามในสนธิสัญญากรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2491 โดยมีเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรนั้น ถือเป็นการเริ่มต้นขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ซึ่งสนธิสัญญานี้ และเหตุการณ์การปิดกั้นเบอร์ลินของโซเวียต ทำให้มีการก่อตั้งองค์กรป้องกันสหภาพยุโรปตะวันตก (WEU) ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2491 และด้วยการสนับสนุนอย่างดีจากพันธมิตรสำคัญคือ สหรัฐอเมริกาที่ต้องการถ่วงดุลอำนาจทางการทหารกับสหภาพโซเวียต ทำให้พันธมิตรทางทหารที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่นี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างรวดเร็ว
ส่วนการเริ่มต้นสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนืออย่างเป็นทางการนั้น เกิดขึ้นเมื่อมีการลงนามในวอชิงตันดีซี ในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2492 โดยได้รวมสนธิทั้งห้าของของบรัสเซลส์เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งในครั้งแรกนั้น คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา โปรตุเกส อิตาลี นอร์เวย์ เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์ โดยเสียงสนับสนุนในการก่อตั้งนั้นไม่เป็นเอกฉันท์ เนื่องจากมีชาวไอซ์แลนด์บางกลุ่มต่อต้านการเข้าเป็นสมาชิกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2492
สงครามเย็น กับ นโยบายเนโท
นโยบายของเนโทยุคหลังสงครามเย็นนั้น หลังจากที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง เนโทได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและปรับปรุงนโยบายในหลาย ๆ ด้านเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ดังนี้
- การให้ความสำคัญแก่ปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (Peace-keeping) ได้แก่ การสร้างความเข้าใจในกระบวนการรักษาสันติภาพ การสร้างความร่วมมือ การวางแผน และการสร้างความสัมพันธ์กับองค์การสหประชาชาติ และองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ในกระบวนการดังกล่าว รวมทั้งการประสานงานระหว่างฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารโดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม
- การหาแนวทางที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์กับรัสเซีย โดยมุ่งเน้นให้รัสเซียมีบทบาทสำคัญและสร้างสรรค์ในการสร้างเสถียรภาพในยุโรปในกรอบกว้าง
- การปรับบทบาททางการทหารให้เอื้อต่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนการดำเนินนโยบายทางด้านความมั่นคงที่เอื้อต่อพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ และการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ระหว่างงบประมาณด้านการทหารและงบประมาณด้านเศรษฐกิจของประเทศ
- ความร่วมมือในโครงการวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม
- การเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก
NATO มีกองกำลัง อยู่ตรงไหนบ้าง?
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ ปัจจุบัน NATO มีบุคลากรทางทหารราว 40,000 นาย ที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติภารกิจของ NATO ทั่วโลก โดยภายหลังจากการผนวกไครเมียของรัสเซียในปี 2014 นาโต้ได้เพิ่มกำลังทหารในแถบตะวันออกมากขึ้น รวมถึงเอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ เมื่อเร็ว ๆ นี้สหราชอาณาจักรยังได้ส่งกองกำลังทหารพร้อมขีปนาวุธไปยังยูเครน
ขณะที่ รอยเตอร์ส ระบุว่า NATO มีทหารประมาณ 4,000 นาย ในเอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลัตเวีย และโปแลนด์ ส่วนในโรมาเนียมีกองกำลังทหารภาคพื้นดินอีก 4,000 นาย ขณะที่ประเทศพันธมิตรส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าไปประจำการเพิ่มในบัลแกเรียและโรมาเนียด้วย นอกจากนี้ยังมีกองกำลังของ NATO อีกราว 3,500 นายประจำอยู่ในคอซอวอ อีกทั้ง ไม่เพียงมีกำลังทหารนาโต ยังมีข้อมูลข่าวระบุว่า ยังมีทหารของสหรัฐอีกหลายหมื่นนายประจำการอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปด้วย
นาโต มีบทบาทอะไรในความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน
เว็บไซต์ซินหัวได้รายงานข่าวว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.) เย็นส์ สต็อลเตินบาร์ก เลขาธิการองค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) เปิดเผยว่า พันธมิตรของนาโตตกลงที่จะเสริมกองกำลังในปีกตะวันออกของตนซึ่งใกล้กับยูเครน ทว่าไม่ได้มีความประสงค์ที่จะส่งกองกำลังเข้ายูเครน
สต็อลเตินบาร์ก กล่าวกับสื่อมวลชนหลังเสร็จสิ้นการประชุมพิเศษของคณะมนตรีแอตแลนติกเหนือ (NAC) ว่า นาโตไม่มีกองกำลังอยู่ในยูเครนและ "ไม่มีความตั้งใจว่าจะส่งกองกำลังนาโตไปประจำในยูเครน"
ทำไม? นาโต ออกโรงกร้าวความขัดแย้ง
การตอบสนองของนาโตมีขึ้นเนื่องจากวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ตัดสินใจดำเนิน "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" ในภูมิภาคดอนบาสส์ทางตะวันออกของยูเครนในวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.) และยูเครนยืนยันว่า เป้าหมายทางการทหารทั่วประเทศของตนตกอยู่ภายใต้การโจมตี
"เราเรียกร้องให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางทหารทันที ถอนกองกำลังออกจากยูเครน และเลือกใช้วิถีทางการทูต" สต็อลเตินบาร์กกล่าว
เมื่อเช้าวันพฤหัสบดี (24 ก.พ.) ปูตินกล่าวกับประชาชนทั่วประเทศผ่านทางโทรทัศน์ว่า "การยึดครองดินแดนของยูเครน" นั้นไม่ได้อยู่ในแผนการของรัสเซีย
ปูติน กล่าวว่า รัสเซียจะไม่บังคับใครด้วยการใช้กำลัง พร้อมระบุว่า การเคลื่อนไหวของรัสเซียเป็นการตอบสนองต่อ "ภัยคุกคามขั้นพื้นฐาน" ของนาโต ซึ่งขยายตัวสู่พื้นที่ยุโรปตะวันออก และทำให้โครงสร้างพื้นฐานทางทหารของนาโตประชิดพรมแดนรัสเซียมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ คณะผู้แทนของนาโตกล่าวในแถลงการณ์ว่า พวกตนได้ตัดสินใจดำเนินการตามแผนป้องกันของตนเพื่อปกป้องพันธมิตรทั้งหมด โดยมีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อกระชับการป้องปรามและการป้องกันทั่วทั้งพันธมิตรนาโต
คณะผู้แทน ระบุว่า นาโตกำลังส่งกองกำลังป้องกันทางบกและทางอากาศเพิ่มเติม ไปยังแถบตะวันออกของนาโต รวมถึงยุทโธปกรณ์ด้านการป้องกันทางทะเลด้วย โดยได้เพิ่มความพร้อมของกองกำลังต่างๆ ในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมด
ข้อมูล : วิกิพีเดีย
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
กดเลย >> community แห่งความบันเทิง
ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี