รีเซต

เปิดรายงาน ธนาคารโลก “เศรษฐกิจถดถอย” เลี่ยงยาก

เปิดรายงาน ธนาคารโลก “เศรษฐกิจถดถอย” เลี่ยงยาก
TNN ช่อง16
14 มิถุนายน 2565 ( 14:35 )
64
เปิดรายงาน ธนาคารโลก “เศรษฐกิจถดถอย” เลี่ยงยาก

แนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญภาวะถดถอยถูกพูดถึงมากขึ้น หลังมรสุมหลายลูกมาบรรจบพร้อม ๆ กัน ทำให้หลายประเทศยากจะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบหนักหลังเผชิญความยากลำบากจากการระบาดของโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี

ธนาคารโลกเผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Global Economic Prospects) ฉบับล่าสุด เดือนมิถุนายน ระบุว่า เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญปัญหารอบด้านพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสมานานกว่า 2 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงผลกระทบต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อ และภาวะทางการเงินที่ฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะสงครามที่ทำให้ตลาดน้ำมันผันผวนและราคาขยับขึ้น รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้านการเกษตร ที่อาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหาร และผลักให้ตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (EMDEs) เข้าสู่ภาวะยากจนรุนแรง


ธนาคารโลกประเมินว่า การขยายตัวของจีดีพีโลกมีแนวโน้มจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ชะลอลงจากร้อยละ 5.7 ในปีที่แล้ว โดยเป็นการปรับลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.1 เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ เนื่องจากผลของโควิด บวกกับสงครามที่ทำให้ราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและการค้า ประกอบกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และน่าจะขยายตัวเฉลี่ยแถว ๆ ร้อยละ 3 ในปี 2566-2567


จีดีพีในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วมีแนวโน้มจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ในปีนี้ ลดลงจากปีที่แล้วที่โตร้อยละ 5.1 และมีแนวโน้มจะขยายตัวราวร้อยละ 2.2 ในปี 2566 // ส่วนตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนามีแนวโน้มจะขยายตัวร้อยละ 3.4 ในปีนี้ ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจากปีที่แล้วที่เติบโตร้อยละ 6.6 และน่าจะโตที่ร้อยละ 4.2 ในปีหน้า แต่ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 4.8 ระหว่างปี 2554-2562

ราคาพลังงานและอาหาร รวมถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบทั่วโลก รวมถึงเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรปที่เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกับรัสเซียมากในแง่การพึ่งพาด้านพลังงาน ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อรายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้จริง ส่วนต่างกำไรภาคธุรกิจ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ประเมินว่า เขตยูโรโซน หรือกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร มีแนวโน้มที่จีดีพีจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปีนี้ ลดลงจากร้อยละ 5.4 ในปีที่แล้ว 


ส่วนสหรัฐฯ ก็สูญเสียกิจกรรมทางเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากการระบาดของไวรัสโอมิครอน ภาวะการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงคราม ถึงแม้ว่าผลกระทบโดยตรงจะมีจำกัด เนื่องจากการค้าและความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียไม่มาก แต่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนมีนาคม และตลาดกำลังจับตาท่าทีของเฟดในการประชุมวันที่ 14-15 มิถุนายน หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมพุ่งแตะร้อยละ 8.6 ทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในรอบกว่า 40 ปี // รายงานล่าสุดของธนาคารโลก คาดว่า จีพีดีสหรัฐฯ ในปีนี้น่าจะโตที่ร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากร้อยละ 5.7 ในปีที่แล้ว


สำหรับจีน กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบหลัก ๆ จากมาตรการจำกัดพื้นที่ หรือล็อกดาวน์ เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 กระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่วนการผลิตและการค้าได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ และผลพวงจากสงคราม ขณะที่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวปานกลาง คาดว่าจีดีพีจีนในปีนี้น่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 ลดลงจากปีที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 

ขณะที่สงครามส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา เนื่องจากสงครามทำให้มีแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น นำไปสู่เงื่อนไขทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการส่งเสริมด้านการเงินและการคลัง บวกกับความต้องการบริโภคนอกประเทศชะลอตัว แม้ว่าบางประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์จะไม่ได้รับผลกระทบจากราคาที่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงอัตราเงินเฟ้อที่สูงและผลกระทบจากการหยุดชะงักของตลาดอาหารโลก ซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับความไม่มั่นคงทางอาหารในหลายประเทศของกลุ่มนี้ โดยเฉพาะประเทศรายได้น้อย เนื่องจากรายได้ภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบจากราคาอาหารและพลังงานที่แพงขึ้น 


ผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นอีกปัจจัยที่กระทบตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา ซ้ำเติมการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ยุติ เพราะแม้แต่ก่อนเกิดสงคราม จีดีพีของหลายประเทศในกลุ่มนี้ก็ชะลอตัวลง สงครามทำให้การชะลอตัวรุนแรงขึ้น รวมถึงสภาพแวดล้อมภายนอกไม่เอื้ออำนวย และก่อให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในยูเครนและรัสเซีย ขณะที่แต่ละประเทศได้รับแรงสะเทือนจากสงครามแตกต่างกันขึ้นกับความเชื่อมโยงด้านการค้าและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งหลายประเทศในกลุ่มนี้พึ่งพารัสเซียและยูเครนในเรื่องสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods)

รายงานประเมินด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก และสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางแต่ละประเทศที่วางไว้ โดยเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเวลานานและสูงกว่าระดับที่เคยคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ ประเมินว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับสูงสุดในช่วงกลางปีนี้ และค่อย ๆ ลดลงเนื่องจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับปานกลาง ความต้องการบริโภคที่เปลี่ยนจากสินค้าไปเน้นบริการ ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานคลี่คลาย และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลง  


อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นทั้งในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เช่นเดียวกับตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ ความต้องการบริโภคที่แข็งแกร่ง ปัญหาหยุดชะงักด้านห่วงโซ่อุปทาน ตลาดแรงงานที่ตึงตัวในบางประเทศ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขยับขึ้นหลังรัสเซียปฏิบัติการทางทหารในยูเครน อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศถอนมาตรการสนับสนุนที่เคยใช้ช่วงโควิดรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้


โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (headline CPI) ที่เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อทั่วโลก เดือนเมษายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบรายปี ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 เมื่อแยกเป็นเงินเฟ้อในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอยู่ที่ร้อยละ 6.9 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2525 ส่วนตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาแตะที่ร้อยละ 9.4 สูงสุดนับจากปี 2551 ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ มาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 ขณะที่ราว 2 ใน 5 ของตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา และประเทศรายได้น้อย มีปัจจัยจากราคาอาหารที่คาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นในอัตราเลข 2 หลัก และแม้จะหักสินค้าหมวดอาหารและพลังงานออกไป เงินเฟ้อพื้นฐาน (core CPI) ก็เพิ่มขึ้นทั่วโลกเช่นกัน จากการเพิ่มขึ้นของราคาบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ค่าเดินทาง เชื้อเพลิง

ความเสี่ยงต่าง ๆ อาจกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะไม่แน่นอน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงอย่างยืดเยื้อ พร้อมกับเศรษฐกิจที่ซบเซา จนทำให้นึกถึงภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (stagflation) ในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งจะนำไปสู่การใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนกู้ยืมสูงขึ้น และสร้างความตึงเครียดทางการเงินให้กับตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาบางส่วน 


จุดเปราะบางที่สำคัญของตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา ทั้งในทศวรรษ 1970, ต้นทศวรรษ 1980 และปัจจุบัน คือ การมีหนี้จำนวนมาก เงินเฟ้อในระดับสูง และสถานการณ์คลังที่อ่อนแอ ทำให้ตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนามีความเปราะบางท่ามกลางภาวะการเงินที่ตึงตัว โดยเฉพาะในลาตินอเมริกาและประเทศที่มีรายได้ต่ำ (LICs) ในแอฟริกาแถบใต้ทะเลทรายซาฮารา ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่อยู่ในสกุลเงินต่างประเทศและเป็นหนี้ระยะสั้น


ธนาคารโลกเตือนด้วยว่า มีความเสี่ยงที่โลกจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (stagflation) ที่เศรษฐกิจเติบโตช้า แต่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากที่เคยอยู่ในระดับต่ำเมื่อกลางปี 2563 ประกอบกับความต้องการบริโภคที่ฟื้นตัว ปัญหาคอขวดด้านอุปทาน ราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากสงคราม แม้ตลาดจะคาดว่าเงินเฟ้อจะแตะจุดสูงสุดในช่วงกลางปีนี้ และค่อย ๆ ลดลง แต่จะยังอยู่ในระดับสูงกว่าคาดการณ์ ประกอบกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ในขณะที่จีดีพีโตชะลอตัว 


การฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงั้นในช่วงทศวรรษ 1970 จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาก เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ ซึ่งมีความเสี่ยงจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) และเกิดวิกฤตการเงินในตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา หากแรงกดดันเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันยังมีสูงเช่นนี้ต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ที่ตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาอาจเผชิญความท้าทายที่รุนแรงอีกครั้ง จึงจำเป็นที่ประเทศในกลุ่มนี้จะต้องแก้ไขเรื่องสถานการณ์คลังให้ดีขึ้น เพิ่มความแข็งแกร่งเรื่องกรอบนโยบายการเงิน และปฏิรูปเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต 

“เดวิด มัลพาสส์” ประธานธนาคารโลก แนะว่า มี 5 เรื่องที่ประเทศต่าง ๆ ควรเร่งลงมือทำ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ได้แก่ 1.จำกัดความเสียหายที่กระทบประชาชนจากสงครามที่เกิดขึ้น อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ยา และการเงิน ให้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม 2.รับมือกับราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มการผลิตอาหารและพลังงาน ไม่เช่นนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตอาหาร โดยเฉพาะในประเทศยากจน 3.เพิ่มความช่วยเหลือในการบรรเทาหนี้ ซึ่งประเทศรายได้ต่ำมีความเปราะบางอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตไวรัส 4.เพิ่มความพยายามสกัดการระบาดของโควิด-19 เช่น เพิ่มการฉีดวัคซีนในประเทศรายได้ต่ำ และ 5.เพิ่มความเร็วในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่ปล่อยมลภาวะน้อย เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง