มาดู! สถาปัตยกรรมแห่งปี สวยล้ำ ไฮเทค เหมือนหลุดมาจากอนาคต
แม้จะมีสถานการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไปทั่วโลก แต่ปีนี้เราก็ได้มีสถาปัตยกรรมที่ยอดเยี่ยมเกิดขึ้นหลากหลายแห่งเลยทีเดียว ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย นวัตกรรมอาคารสถานที่ใหม่ ๆ พื้นที่แสดงผลงานที่สร้างสรรค์ บ้านพิมพ์ 3 มิติ ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์นอกโลกที่ได้แรงบันดาลใจจากจักรวาล โดยสื่อ New Atlas สื่อต่างประเทศได้รวบรวมไว้ มาดูกันว่าสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในปีนี้ มีอะไรบ้าง
The Sara Cultural Centre – White Arkitekter
ศูนย์วัฒนธรรม "Sara" ของสวีเดน เป็นหนึ่งในหอคอยไม้ที่สูงที่สุดในโลก โดยมีความสูงกว่า 75 เมตร และออกแบบโดยยึดเรื่องของความยั่งยืนเป็นหลัก ตัวอาคารประกอบด้วยโรงแรมและศูนย์วัฒนธรรมที่อยู่ติดกัน ซึ่งทั้งสองหลังสร้างขึ้นโดยใช้ไม้ที่มาจากท้องถิ่น ด้านในมีระบบให้ความร้อนและความเย็นที่ประหยัดพลังงาน และยังมีแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งมาให้อีกด้วย
Mausoleum of Martyrdom of Polish Villages – Nizio Design International
พิพิธภัณฑ์นี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านชนบทในโปแลนด์ ช่วงที่นาซีเข้ายึดครอง โดยตัวพิพิธภัณฑ์จะมีลักษณะคล้ายบ้าน 11 หลังที่ต่อกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งเริ่มตั้งแต่บ้านเต็มหลัง ไล่จนไปถึงบ้านที่เหลือแต่โครง เพื่อสื่อถึงการทำลายบ้านและผู้คนในเมืองนี้ ส่วนภายในมีการจัดแสดงภาพถ่าย เอกสาร และวิดีโอที่บรรยายถึงเหตุการณ์ในสงคราม และยังมีซากปรักหักพังที่ไหม้เกรียมของจริงจัดแสดงอยู่ด้วย
Casamia Community House – VTN Architects
อาคารที่สร้างด้วยไม้ไผ่นี้อยู่ที่ประเทศเวียดนาม โดยประกอบไปด้วยศูนย์บริการชุมชน ศูนย์กีฬา และพื้นที่การใช้งานอื่น ๆ ซึ่งใช้วัสดุหลักในการก่อสร้างเป็นไม้ไผ่เกือบทั้งหมด และที่สวยงามมากคือทักษะในการใช้ไม้ไผ่ทำเพดานโค้งขนาดใหญ่ ที่นอกจากจะสวยสะดุดตาแล้วยังแสดงถึงฝีมือของช่างอีกด้วย ตัวอาคารประกอบด้วยเสาไม้ไผ่ โครงเสาที่ถักและค้ำยันไว้จำนวน 22 โครง ล้อมรอบด้วยกระจกและมุงด้วยหลังคามุงจากแบบเวียดนามดั้งเดิม ถึงแม้จะเป็นไม้ไผ่ทั้งหลังแต่ก็มีความทนทานต่อสภาพอากาศเลวร้าย ตราบใดที่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม
Le Monde headquarters – Snøhetta
สถาปัตยกรรมนี้เป็นตัวอย่างของการออกแบบที่ชาญฉลาดมากทีเดียว โดยเป็นตึกสำนักงานของสื่อยักษ์ใหญ่ฝรั่งเศส Le Monde Group ความยากก็คือตัวตึกไม่สามารถออกแบบให้รองรับโครงสร้างหนักที่ศูนย์กลางได้ เนื่องจากติดกับเส้นทางรถไฟใต้ดินด้านล่าง บริษัทผู้ออกแบบจึงสร้างซุ้มประตูขนาดใหญ่ที่คร่อมรางรถไฟไว้เพื่อถ่ายน้ำหนัก ส่วนหน้าตาของอาคารหลังนี้ก็เรียกได้ว่าเหมือนงานศิลป์ชิ้นหนึ่ง โดยประกอบด้วยกระจกกว่า 20,000 ชิ้น ที่เรียงกันเป็นแพตเทิร์นว่า 772 แบบ แนวคิดก็คือ รูปลักษณ์ของอาคารจะเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศและแสงที่เปลี่ยนแปลง
Shanghai Astronomy Museum – Ennead Architects
พิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์เซี่ยงไฮ้ เป็นพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยการออกแบบของอาคารที่เป็นทรงโค้ง ได้รับแรงบันดาลใจมาจากจักรวาลจริง ๆ และบางส่วนของอาคารยังสามารถทำหน้าที่เป็นนาฬิกาแดดขนาดใหญ่สำหรับบอกเวลาได้ด้วย ภายในอาคารมีความกว้างถึงประมาณ 40,000 ตารางเมตร ใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวและถาวร มีกล้องโทรทรรศน์สุริยะ หอดูดาว รวมถึงจุดชมวิว และโรงละครท้องฟ้าจำลองอีกด้วย
Chapel of Sound – OPEN Architects
มองแวบแรกเราอาจจะเข้าใจผิดว่าอาคารหลังนี้เป็นกองหินขนาดยักษ์ เพราะตัวอาคารเองได้รับแรงบันดาลใจมาจากสภาพภูมิประเทศรอบตัว และยังตั้งอยู่ใกล้กับซากที่ปรักหักพังบางส่วนของกำแพงเมืองจีน ตัวอาคารได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อให้สามารถทำการแสดงภายในได้อย่างสมบูรณ์แบบ
Le Dôme Winery – Foster + Partners
โจทย์ในการออกแบบคือ โรงไวน์ที่ต้องกลืนไปกับธรรมชาติ ผลที่ได้จึงเป็นอาคารไม้วงกลม ที่ดูผสมผสานไปกับทัศนียภาพรอบตัว โรงไวน์หลังนี้มีความสูงถึง 10 เมตร มีสองชั้น ประกอบด้วยชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ชั้นบนเป็นกระจกเพื่อให้สามารถชมวิวได้ 360 องศา
Trudo Tower – Stefano Boeri Architetti
อาคารหลังนี้เป็นที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยออกไอเดียให้มีความเป็นธรรมชาติสอดแทรกเข้าไปด้านใน อาคารนี้มีความสูง 70 เมตร มี 19 ชั้น จุดเด่นคือระเบียงที่ยื่นออกมาให้เห็นต้นไม้เขียมชอุ่มสบายตา ให้บรรยากาศของอาคารชนบท ที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง
East 17th St 3D-printed Home Development – Icon
มาดูเทคโนโลยีการก่อสร้าง ที่ใช้การพิมพ์ 3 มิติกันบ้าง บ้านหลังนี้ใช้การพิมพ์ 3 มิติเข้ามาช่วยให้สร้างบ้านได้สะดวกสบายและปลอดภัย จนกลายมาเป็นโครงการบ้านที่ค่อนข้างหรูหรา สนนราคาแค่ประมาณ 450,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 15,151,500 บาท ส่วนล่างของบ้านพิมพ์ 3 มิติ ส่วนบนทำจากไม้จริง มีพื้นที่เฉลียง ห้องนอนใหญ่ที่มีเพดานสูง และพื้นที่ใช้สอยที่มีสัดส่วนเหมาะสม ซึ่งไม่แน่ว่าอีกปีหรือสองปี บ้านพิมพ์ 3 มิติประเภทนี้อาจจะมีเยอะขึ้นก็เป็นได้
974 Stadium – Fenwick Iribarren Architects
ปิดท้ายกันที่สนามกีฬาที่สร้างจากตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด 974 ตู้ ออกแบบมาเพื่อใช้ในการแข่งขันฟุตบอลกาตาร์เวิลด์คัพ 2022 ซึ่งถ้าจบโครงการแข่งขันแล้วก็จะสามารถรื้อถอนได้อย่างง่ายดายและนำกลับมาใช้ใหม่หรือสร้างใหม่อีกครั้งที่อื่น ช่วยลดความจำเป็นในการสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่มักจะมีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย
และนี่ก็คือตัวอย่างสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นประจำปี แล้วคุณล่ะชอบอาคารหลังไหนกันบ้าง?
ขอบคุณข้อมูลจาก