รีเซต

สสจ.สิงห์บุรี เตือนระวังโรคไข้เลือดออก ขอความร่วมมือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย

สสจ.สิงห์บุรี เตือนระวังโรคไข้เลือดออก ขอความร่วมมือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
มติชน
27 กรกฎาคม 2563 ( 13:08 )
285

แพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีฝนตกในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ที่อาจทำให้เกิดมีการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ซึ่งสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ตั้งแต่ 1 มกราคม – 21 กรกฎาคม 2563 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 31,438 ราย เสียชีวิต 21 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ อายุ15-24 ปี ส่วนสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดสิงห์บุรี อยู่อันดับที่ 48 ของประเทศไทย โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 กรกฎาคม 2563 พบ ผู้ป่วย 181 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี กระจายอยู่ในทุกอำเภอ สูงที่สุดในอำเภออินทร์บุรี นอกจากนี้ ผลสำรวจลูกน้ำยุงลายจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 19 กรกฎาคม 2563 ยังพบว่า บ้าน วัด โรงเรียน มีแนวโน้มค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย หรือค่าความชุกชุม ของลูกน้ำยุงลายสูงขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม (เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน) ซึ่งเดือนกรกฎาคมนี้ พบเกินเกณฑ์มาตรฐาน ที่กำหนด โดย บ้านพบร้อยละ 13.95 วัดร้อยละ 5.89 โรงเรียนร้อยละ 3.92 แนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า โอกาสการเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา จะเพิ่มสูงขึ้นได้

 

แพทย์หญิงปาจรีย์ อารีย์รบ กล่าวต่อไปว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ขอความร่วมมือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการทุกแห่ง ตลอดจนครู ผู้ปกครอง และประชาชน ร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ “3 เก็บ 3 โรค” 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน วัด โรงเรียน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย โดยสำรวจทุกจุดที่มีน้ำขัง เช่น จานรองกระถาง ยางรถยนต์เก่า ภาชนะที่ไม่ใช้ ที่รองกันมด อ่างบัว/อ่างน้ำ ใส่ทรายอะเบทในทุกภาชนะ ที่จำเป็นต้องรองน้ำไว้ใช้ และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและช่วยป้องกัน 3 โรค คือ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และ ที่สำคัญหมั่นสังเกตอาการตนเอง และคนในครอบครัว โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง (เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เป็นต้น) หากมีอาการไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ หรือมีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกไว้ก่อน ให้รีบไปพบแพทย์ ที่โรงพยาบาล เพื่อรับการวินิจฉัยโดยเร็ว ห้ามทานยาลดไข้แก้ปวด แอสไพริน และไอบูโพรเฟน โดยเด็ดขาด มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่ สถานบริการของรัฐทุกแห่ง หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ข่าวที่เกี่ยวข้อง