รีเซต

รู้จักประเทศ "ซาอุดิอาระเบีย" สานต่อความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย ผ่านรอยร้าว 30 ปี

รู้จักประเทศ "ซาอุดิอาระเบีย" สานต่อความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย ผ่านรอยร้าว 30 ปี
Ingonn
27 มกราคม 2565 ( 15:42 )
2.3K
รู้จักประเทศ "ซาอุดิอาระเบีย" สานต่อความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย ผ่านรอยร้าว 30 ปี

เปิดความสัมพันธ์ไทย ซาอุดีอาระเบีย หลังนายกรัฐมนตรีไทย เดินหน้าฟื้นฟูความสัมพันธ์ ให้กลับมาอยู่ใน “ระดับปกติ” อย่างสมบูรณ์ สิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน วันนี้ TrueID จึงขอพาทุกคนมารู้จักกับประเทศ "ซาอุดิอาระเบีย" อีกประเทศหนึ่งที่มีความสำคัญต่อไทย และอดีตเคยเกิดชนวนที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียประกาศตัดลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2532-2533 ซึ่งการกลับมาปรับความสัมพันธ์ครั้งนี้ ถือเป็นที่น่าจับตามองในเวทีโลกเลยทีเดียว

 

เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมซาอุดีอาระเบีย ในการหารือความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ไทยได้พยายามอย่างที่สุดในการสะสางกรณีต่าง ๆ โดยต่างมุ่งมั่นดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อดูแลความปลอดภัยของคนในชาติกันและกัน

 

ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศต่าง ๆ และหารือถึงแนวทางในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกสาขา รวมถึงการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำเมืองหลวงของทั้งสองประเทศในอนาคต ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี เนื่องจากก่อนหน้านี้ซาอุดีอาระเบียและไทยมีรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มากกว่าแค่คดี "เพชรซาอุ"

 

รอยร้าวความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย ก่อนหน้านี้

TrueID ขอสรุปความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย ในประเด็นที่คั่งค้างกันระหว่างสองราชอาณาจักร ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีไทย จะเข้าพบเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี เพื่อปรับความสัมพันธ์ฉันมิตรกับชาอุดีอาระเบีย  ไว้ดังนี้

 

1.เหตุการณ์ลอบสังหารเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบีย

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2532 เมื่อเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียรายหนึ่ง ถูกลอบสังหารใจกลางกรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะเกิดเหตุฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียอีก 3 ศพ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 รวมแล้วมีเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียรวม 4 ศพที่ต้องสังเวยชีวิตในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยมีการนำตัวผู้ต้องสงสัยมาสืบสวนสอบสวน แต่ก็ไม่สามารถนำตัวคนร้ายตัวจริงมาดำเนินคดีได้ 

 

2.ขโมยเพชรซาอุฯ

“นายเกรียงไกร เตชะโม่ง” แรงงานไทยชาวลำปางที่ทำงานอยู่ที่พระราชวังเจ้าชายไฟซาล แห่งซาอุดีอาระเบีย ก่อเหตุโจรกรรม เพชร ทอง และอัญมนี ในพระราชวังเจ้าชายไฟซาล ในเดือนสิงหาคม เมื่อปี 2532 แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะติดตามนำเพชรที่ติดตามได้ส่งคืนให้กับทางการซาอุฯ แต่ที่ทำให้ทางการซาอุฯไม่พอใจอย่างยิ่งก็คือของกลางกว่าครึ่งกลับเป็นของปลอม และไม่ได้มีเพชร “บลูไดมอนด์” รวมอยู่ด้วย

 

3.ฆาตกรรม “มูฮัมหมัด อัลรูไวลี่”

การหายตัวไปอย่างเป็นปริศนาของนาย "โมฮัมหมัด อัลรูไวลี่" นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย สมาชิกราชวงศ์อัลสะอูด มีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาล ต่อมาจึงมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ปิดบังซ่อนเร้นทำลายศพ กักขังหน่วงเหนี่ยว ด้วยการอุ้ม “อัลรูไวลี่” ไปเค้นข้อมูล แต่สุดท้ายเกิดความผิดพลาดจนนายอัลรูไวลี่เสียชีวิต และมีการทำลายหลักฐานที่จังหวัดชลบุรี เป็นอีกเหตุผลหลักที่สร้างความไม่พอใจให้กับทางการซาอุดีอาระเบีย จนมีการประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยอย่างจริงจัง 

 

ซาอุดีอาระเบีย สำคัญต่อเศรษฐกิจ

ซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่ที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีอิทธิพลในกลุ่มประเทศมุสลิม เป็นคู่ค้าอันดับที่สองของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเป็นแหล่งส่งออกสินค้าไทยลำดับที่ 21

 

ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุผ่านเว็บไซต์สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ซาอุดิอาระเบีย วางแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมัน พัฒนาอุตสาหกรรมผลิตอาวุธด้วยตนเอง เพิ่มสัดส่วนแรงงานหญิง ลดอัตราการว่างงาน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่สำคัญอื่นๆ ของประเทศนอกจากน้ำมัน เช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ประเทศนี้ยังมีศักยภาพอยู่มาก

 

นอกจากนั้นยังจะเพิ่มความสามารถของราชอาณาจักรในการรองรับมุสลิมจากทั่วโลกที่จะเข้ามาแสวงบุญในพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ จากปีละประมาณ 8 ล้านคน ในปัจจุบัน เป็น 15 ล้านคน ในปี 2020 และเพิ่มเป็น 30 ล้านคน ในปี 2030 นอกจากนั้นซาอุดีอาระเบียจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะมาเยือน แต่เป็นการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวที่อยู่ภายใต้กรอบค่านิยมและความเชื่อความศรัทธาของราชอาณาจักร คาดว่าการจะบรรลุความสำเร็จตามที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้วางไว้ในวิสัยทัศน์ 2030

 

โดยหลังจากการเจรจาครั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการจัดหาแรงงานไทยที่มีศักยภาพเข้าร่วมทำงานในซาอุดีอาระเบีย โดยเฉพาะในภาคบริการต่าง ๆ ทั้งธุรกิจโรงแรม สุขภาพ ตลอดจนอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่ เตรียมเข้าทำงานตามความประสงค์ของซาอุดีอาระเบียต่อไป

 

ไทย-ซาอุดิอาระเบีย กลับมาเหมือนเดิม ได้อะไรบ้าง

1. ด้านการท่องเที่ยว : เป็นโอกาสสำหรับการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับประชาชนที่จะมีพลวัตรมากขึ้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมนี้อย่างรอบด้าน เบื้องต้น มีการคาดการณ์ว่า การเดินทางไปมาหาสู่ที่สะดวกยิ่งขึ้นระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอาระเบีย จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศไทยไม่ต่ำกว่าประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี 


2. ด้านพลังงาน : เกิดการร่วมวิจัยและลงทุน ทั้งในรูปแบบพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติของทั้งสองประเทศ โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ค้าและมีแหล่งสำรองน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลก ตลอดจนมีวิทยาการด้านพลังงานที่ทันสมัย ส่วนไทยก็มีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่พร้อมรองรับการวิจัย พัฒนา และการลงทุนแห่งอนาคต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย BCG Economy ซึ่งสอดรับกับข้อริเริ่ม Saudi Green Initiative และ Middle East Green Initative ของซาอุดีอาระเบีย


3. ด้านแรงงาน : ไทยมีแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือที่มีศักยภาพจำนวนมาก ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็มีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบต่าง ๆ จำนวนมากเช่นกัน โดยช่วงปี 2530 ไทยเคยส่งแรงงานไปซาอุดีอาระเบียมากถึง 300,000 คน  สร้างรายได้ส่งกลับประเทศมากกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี บัดนี้ ความร่วมมือและโอกาสนั้นจะกลับมาอีกครั้ง โดยแรงงานจากประเทศไทย จะมีส่วนช่วยเติมเต็ม “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030” (Saudi Vision 2030) ผ่านโครงการก่อสร้างที่คาดว่าจะมีขึ้นเป็นจำนวนมาก


4. ด้านอาหาร : ประเทศไทยนั้นถือเป็น “ครัวโลก” อุดมสมบูรณ์ด้วยผลิตผลทางการเกษตร ผัก ผลไม้ และประมง อีกทั้งมีอาหารที่ทั่วโลกต่างหลงมนต์เสน่ห์ รวมถึงอาหาร “ฮาลาล” ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตและพร้อมส่งออกให้แก่ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงผ่านซาอุดีอาระเบียไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นำมาซึ่งโอกาสอย่างมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารของไทย


5. ด้านสุขภาพ : ด้วยความแข็งแกร่งด้านระบบสาธารณสุขของไทย และบุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลก รวมถึงการให้บริการที่ทุกคนประทับใจ ทำให้ไทยกลายเป็น "ศูนย์กลางทางการแพทย์" (Medical Hub) ที่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เป็น "นักท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม" นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย โดยผู้ป่วยมักจะเดินทางมาพร้อมกับครอบครัวขนาดใหญ่ ที่มักจะซื้อแพคเกจที่รวมการรักษาพยาบาล ที่พัก และสถานที่ท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสที่จะเกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น


6. ด้านความมั่นคง : ซาอุดีอาระเบียถือเป็นเป็นประเทศอิสลามสายกลาง ที่มีอิทธิพลสูงในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) สามารถมีบทบาทช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางสันติสุข นอกจากนั้น ยังสามารถมีความร่วมมือกันด้านข้อมูลข่าวสารความมั่นคง และการต่อต้านการก่อการร้ายอีกด้วย


7. ด้านการศึกษาและศาสนา : ที่ผ่านมานั้น ซาอุดีอาระเบียได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษาด้านศาสนา นอกจากนั้น ซาอุดีอาระเบีย ยังเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พลังงาน สุขภาพ การวิจัยทางทะเล การก่อสร้าง เทคโนโลยีป้องกันประเทศ และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสขยายการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างกันอีกมาก


8. ด้านการค้าและการลงทุน : เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการกลับมาสู่ความสัมพันธ์ในระดับปกติ จะสร้างโอกาสและเปิดประตูทางการค้าให้กับนักลงทุนและ SME ไทย ในการแสวงหาลู่ทางการทำธุรกิจและการแสวงหาหุ้นส่วนทางการค้าได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นทั้งในซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าตกแต่งภายใน และเฟอร์นิเจอร์ ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศผ่าน "กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ" ในด้านพลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศ เทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ซึ่งไทยนั้น มีความพร้อมในด้านทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ สถานศึกษา และเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ อย่าง EEC พื้นที่ระเบียงเศษฐกิจ และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมไปถึงการสร้างเมืองอัจฉริยะในจังหวัดต่างๆ ด้วย


9. ด้านการกีฬา : จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความร่วมมือทางการกีฬาของทั้งสองประเทศ ที่มีความสนใจในการแข่งขันและการกีฬาต่างๆ ร่วมกัน เช่นฟุตบอล มวย กอล์ฟ การแข่งรถ รวมถึง e-sport และอื่นๆ และเป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริม "มวยไทย" ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

 

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha 

 

 

 

 

ข้อมูล : เว็บไซต์สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , รัฐบาลไทย , เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง