รีเซต

ตาเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพิ่มความสมจริงในเวลาที่เร็วขึ้น!

ตาเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพิ่มความสมจริงในเวลาที่เร็วขึ้น!
TNN ช่อง16
4 ธันวาคม 2564 ( 23:05 )
63
ตาเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพิ่มความสมจริงในเวลาที่เร็วขึ้น!

เมื่อมีผู้ป่วยประสบปัญหาตาฝ่อหรือสูญเสียดวงตาแบบถาวร ไม่ว่าจะเป็นจากกำเนิด การประสบอุบัติเหตุ หรือสาเหตุอื่นๆ ก็ตาม การใส่ตาเทียมให้ผู้ป่วยนั้นนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเสริมสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น โดยตาเทียมนั้นจะมีทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งตาเทียมเฉพาะบุคคลนั้นจะมีวิธีการทำที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีหลายขั้นตอน แต่ด้วยงานวิจัยใหม่นี้จะช่วยทำให้การสร้างตาเทียมเฉพาะบุคคลนั้นรวดเร็วและสมจริงขึ้นได้ด้วยการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ


เทคโนโลยีการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการสร้างตาเทียมนั้นได้ถูกพัฒนาจากการร่วมมือระหว่างสถาบัน Fraunhofer Institute for Computer Graphics Research สถาบันเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกของเยอรมนีและบริษัท Ocupeye ของอังกฤษ เพื่อช่วยให้การสร้างตาเทียมเฉพาะบุคคลนั้นสามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้นและช่วยลดขั้นตอนในการสร้างอีกด้วย


ที่มาของภาพ 3Dprintingmedia


สำหรับขั้นตอนการสร้างตาเทียมด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้น ขั้นแรกจะเริ่มจากการสแกนตาของผู้ป่วยโดยใช้เครื่องสแกนที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ จากนั้นจะใช้ซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Cuttlefish:Eye ที่พัฒนาโดยสถาบัน Fraunhofer ในการนำข้อมูลที่ได้จากการสแกนตามารวมกับภาพถ่ายตาที่เหลืออยู่ของผู้ป่วยเพื่อเปรียบเทียบสีของตาผู้ป่วยนั่นเอง 


ข้อมูลที่ได้จากวิธีข้างต้นทั้งรูปทรงและสีของตานั้นจะถูกนำมาเป็นตัวแบบในการพิมพ์ตาเทียมโดยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยเมื่อพิมพ์สำเร็จแล้วตาเทียมจะถูกนำไปขัดเงาเพื่อเพิ่มความสมจริงให้กับตาเทียมมากขึ้น โดยเมื่อดำเนินการเสร็จเรียบร้อยตาเทียมที่ได้ออกมานั้นจะมีความสวยงามและดูเหมือนตามนุษย์จริงๆ มากกว่าตาเทียมที่ใช้วิธีการแบบเดิม อีกทั้งยังใช้เวลาน้อยกว่าอีกด้วย 


ที่มาของภาพ newatlas


เทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยประมาณ 40 รายในเร็วๆ นี้ที่โรงพยาบาล Moorfields ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หลังจากที่ใส่ตาเทียมที่ทำจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าร่วมแต่ละคนจะได้รับการตรวจสอบเป็นระยะๆ ตลอดปี โดยผู้วิจัยเชื่อว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติเพียงเครื่องเดียวนั้นสามารถผลิตตาเทียมได้ถึง 10,000 ชิ้นเลยทีเดียว


ศาสตราจารย์ Mandeep Sagoo แห่ง Moorefields กล่าวว่า เขาคาดหวังว่าการทดลองกับผู้ป่วยที่กำลังจะมีขึ้นนี้จะช่วยทำให้เราเห็นว่าเทคโนโลยีที่พวกเขาได้ทำการพัฒนาขึ้นมานี้มีประโยชน์มากแค่ไหน และเทคโนโลยีนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ป่วยได้โดยใช้เวลาที่สั้นลงอีกด้วย





ขอบคุณข้อมูลจาก

newatlas

fuentitech

3Dprintingmedia

ข่าวที่เกี่ยวข้อง