รีเซต

ชาวเน็ตโพสต์ปกป้อง “นาฏศิลป์ไทย” เผยแม่เป็นคนช่วยฟื้นฟูศิลปะรำกัมพูชา

ชาวเน็ตโพสต์ปกป้อง “นาฏศิลป์ไทย” เผยแม่เป็นคนช่วยฟื้นฟูศิลปะรำกัมพูชา
TNN ช่อง16
10 มีนาคม 2566 ( 13:39 )
104

วันนี้ ( 10 มี.ค. 66 )เป็นประเด็นดรามาข้ามชาติที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ สำหรับประเทศไทย กับ กัมพูชา ในด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งกัมพูชามองว่าไทยเป็นคนลอกเลียนแบบไป จนกลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างชาวเน็ต 2 ชาติ โดยประเด็นที่พูดคุยกันนั้น เริ่มมาจาก “กุนแขร์” ศิลปะการป้องกันตัวของกัมพูชา

 จนกระทั่งลุกลามไปยังศิลปะแขนงต่างๆ อาทิ การร่ายรำ โขน นาฏศิลป์ไทย โดยชาวกัมพูชาบางส่วนระบุว่า มีต้นแบบมาจากประเทศของตนเอง 

ล่าสุดผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “วินิจจัย ชลานุเคราะห์” ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า 

“แม่ผมนี่แหละ หนึ่งในคณะครูนาฏศิลป์ไทย ที่รัฐบาลกัมพูชาร้องขอให้รัฐบาลไทย ช่วยส่งครูนาฏศิลป์ของไทย ไปช่วยฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม นาฏศิลป์ โขนละครรำ หลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว คุณแม่ได้เดินทางร่วมไปกับคุณครูของคุณแม่ ราวปี พ.ศ. 2495 ถึง ปี พ.ศ. 2500 

แต่คุณแม่ไปเป็นสอนได้ไม่กี่ครั้ง ก็ถูกห้ามจากผู้ใหญ่ในกร มศิลปากร เพราะช่วงเวลานั้นคุณแม่เป็นนักแสดงตัวเด่น เป็นพระเอกละครของกรมศิลป์

คุณแม่เล่าให้ฟังว่า ข้าราชการของเขมร ที่ดูแลด้านศิลปะวัฒนธรรมเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่เขมรตกเป็นชาติอาณานิคมของฝรั่งเศส เหล่าครูอาจารย์นาฏศิลป์ในพระราชสำนักกัมพูชา ถูกห้ามไม่ให้สอนนาฏศิลป์ ศิลปะการแสดงชั้นสูงประจำชาติ ที่ได้รับสืบทอดมาตั้งแต่สมัยพระองค์ด้วง กษัตริย์เขมรอุดงมีชัย ที่ได้รับเอานาฏศิลป์ของสยาม จากราชสำนักสยาม ในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มาเป็นนาฏศิลป์ประจำชาติของเขมร เพราะนาฏศิลป์เขมรดั้งเดิมได้สาปสูญไปหมดแล้วตั้งแต่โบราณ

ครูอาจารย์นาฏศิลป์เขมร ตั้งแต่สมัยพระองค์ด้วง กษัตริย์เขมร ก็ค่อยๆเสียชีวิตไป รวมถึงนักแสดงตัวละคร ที่ได้รับการถ่ายทอดมาในช่วงเวลานั้น ก็ค่อยๆหายไปด้วยเช่นกัน

ที่หลงเหลืออยู่ ก็จดจำท่ารำนาฏศิลป์ของพระราชสำนักเขมรที่ได้จากสยามมา ก็จำไม่ได้ครบถ้วน จึงร้องขอให้รัฐบาลไทยช่วยส่งครูนาฏศิลป์ของไทยมาช่วยฟื้นฟูให้แก่นาฏศิลป์เขมร

แม่ยังเล่าให้ฟังว่า ยังมีคนในวังของเขมรมาต้อนรับด้วยตอนนั้น

มันเป็นเรื่องเล่าของคุณแม่ ที่เล่าให้ผมฟัง คุณแม่ผมชื่อ คุณครู สุวรรณี ชลานุเคราะห์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงนาฏศิลป์ละครรำ ประจำปีพุทธศักราช 2533 ชีวิตของท่านทั้งชีวิตคือละคร”

ด้านชาวเน็ตต่างเข้าแชร์ข้อมูลเพราะเป็นเรื่องราวที่มีประโยชน์ และ ทำให้ทราบความเป็นมาทางด้านนาฎศิลป์ของไทยและกัมพูชา ว่าเราไม่ได้ลอกเลียนแบบใครมา เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง 





ข้อมูลจาก : วินิจจัย ชลานุเคราะห์

ภาพจาก :  TNN ONLINE 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง