รีเซต

โดนใบสั่งจราจร ไม่เสียค่าปรับ ตร.ออกหมายจับแน่ เช็กใบสั่งออนไลน์ได้ที่นี่

โดนใบสั่งจราจร ไม่เสียค่าปรับ ตร.ออกหมายจับแน่ เช็กใบสั่งออนไลน์ได้ที่นี่
TNN ช่อง16
21 มิถุนายน 2565 ( 08:07 )
237
โดนใบสั่งจราจร ไม่เสียค่าปรับ ตร.ออกหมายจับแน่ เช็กใบสั่งออนไลน์ได้ที่นี่

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. และ พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. ในฐานะรองโฆษก บช.น. ร่วมแถลงกรณีกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีแนวทางการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร และไม่มาชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด 

เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจรแล้วไม่ไปชำระค่าปรับจำนวนมาก บางคนพบว่ามีใบสั่งถึง 59 ใบ และยังคงมีพฤติการณ์ที่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรซ้ำๆ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและเกิดปัญหาการจราจร 

สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินรวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงได้กำหนดมาตรการการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีวินัยจราจร ลดปัญหาอุบัติเหตุและปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครได้ในระดับหนึ่ง โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้

4 ข้อ ดัดหลังคนชอบเบี้ยวค่าปรับจากใบสั่งจราจร

1.เจ้าพนักงานจราจรออกใบสั่งให้กับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ทั้งแบบความผิดซึ่งหน้า และความผิดที่ตรวจจับด้วยกล้องตรวจจับการกระทำความผิด ระยะเวลาเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 

2.กรณีผู้กระทำความผิดไม่มาชำระค่าปรับ เมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่งแต่ละประเภท เจ้าพนักงานจราจรจะออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง (ใบเตือน) โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดชำระค่าปรับในใบสั่ง

โดยให้ถือว่าเจ้าของ/ผู้ครอบครอง ได้รับแจ้งเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่ง และต้องชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ซึ่งในขั้นตอนที่ 1 และ 2 ผู้กระทำความผิดสามารถเลือกชำระค่าปรับ ได้ที่สถานีตำรวจทุกสถานีทั่วประเทศ, ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ของธนาคารกรุงไทย, เคาน์เตอร์เซอร์วิสที่มีสัญลักษณ์ PTM และทางไปรษณีย์

3.กรณีพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบเตือน และผู้กระทำความผิดยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากการส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบกเพื่อดำเนินการตามมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อให้มาชำระค่าปรับ 

หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่เพื่อออกหมายจับ 

4.กรณีถูกออกหมายเรียกหรือหมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตามข้อหาที่ผู้ต้องหากระทำผิดตามใบสั่ง และความผิดข้อหาตามมาตรา 155 ที่ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 141 (ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง) โดยไม่มีเหตุอันสมควร 

ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองที่สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียก หมายจับ ไม่สามารถชำระผ่านช่องทางต่างๆ ตามข้อ 2 ได้

โดนออกหมายจับ ประวัติขึ้นในระบบฐานข้อมูลตำรวจ

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า ผลของการถูกออกหมายจับในคดีอาญา เมื่อถูกออกหมายจับแล้วจะถูกบันทึกในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยตำรวจสามารถจับกุมตัวบุคคลที่มีหมายจับได้ทั่วราชอาณาจักร โดยใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมฐานข้อมูล 

หากบุคคลที่มีหมายจับเดินทางออกนอกประเทศจะถูกจับ จะเกิดความยากลำบากในเรื่องการเดินทาง และถูกบันทึกในทะเบียนประวัติซึ่งอาจส่งผลต่อการประกอบอาชีพการทำงาน กรณีที่หน่วยงานสอบถามประวัติคดีอาญาว่าเป็นบุคคลที่มีหมายจับ จะทำให้เกิดความยากลำบากและความน่าเชื่อถือในการทำนิติกรรม 

และกรณีผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองหรือถูกจับกุม และยินยอมเปรียบเทียบปรับให้คดีอาญาเลิกกัน โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เน้นบุคคลกระทำความผิดซ้ำๆ บ่อยครั้งก่อน

เปิดให้ประชาชนเช็ก "ใบสั่ง" ผ่านออนไลน์

หากประชาชนมีข้อสงสัยว่ามีใบสั่งค้างชำระหรือไม่ นั้น สามารถตรวจสอบได้ผ่านช่องทางใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชนได้ที่เว็บไซต์ https://ptm.police.go.th/eTicket/#/ 

จึงขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร เพื่อช่วยกันลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ และปัญหาการจราจรที่เกิดจากการไม่เคารพกฎหมายจราจรและไม่มีวินัย หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทาง Facebook และ Twitter 1197

ดีเดย์ 20 มิ.ย.เบี้ยวค่าปรับ ออกหมายจับแน่ พบสูงสุดค้างจ่าย 59 ใบ

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน เป็นต้นไป และจะตรวจสอบใบสั่งที่ยังไม่หมดอายุความเน้นบุคคลกระทำความผิดซ้ำๆ บ่อยครั้งก่อน 

ส่วนใบสั่งที่หมดอายุความแล้วจะไม่กระทำกับการดำเนินการดังกล่าวนั้น ดำเนินการภายในเขตกรุงเทพมหานคร ยอดสูงสุดของคนที่ไม่จ่ายมากที่สุดคือ 59 ใบ ยังไม่ได้ตรวจสอบทุกพื้นที่จึงเชิญเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่ามีพื้นที่อื่นๆ อีกหรือไม่ เพื่อดำเนินการมาตรการดังกล่าวต่อไป.


ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง