จีนพบซาก 'สิ่งปลูกสร้างทรง 5 เหลี่ยม' เก่าแก่ 5,500 ปี
ไท่หยวน, 12 พ.ย. (ซินหัว) -- คณะนักโบราณคดีของจีนค้นพบซากโครงสร้างพื้นที่ทรง 5 เหลี่ยม ซึ่งมีอายุ 5,500 ปี ในนครไท่หยวน เมืองเอกของมณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน
สถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีเทศบาลนครไท่หยวน ระบุว่าซากโครงสร้างดังกล่าว ซึ่งถูกขุดพบในสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่ง คาดว่ามีความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมหย่างเสาตอนกลางและตอนปลาย
เผยจิ้งหรง นักวิจัยจากสถาบันฯ ระบุว่านักโบราณคดีขุดพบหลุมขี้เถ้า 98 หลุม เตาเผาเครื่องปั้นดินเผา 11 เตา บ้านเรือน 2 หลัง และหลุมฝังศพ 6 หลุมในสมัยราชวงศ์หมิง (ปี 1368-1644) และราชวงศ์ชิง (ปี 1644-1911) โดยการค้นพบที่โดดเด่นที่สุดคือโครงสร้างพื้น/เรือนทรง 5 เหลี่ยม ที่ครอบคลุมพื้นที่ราว 32 ตารางเมตร
ภายในเรือนทรง 5 เหลี่ยมนี้ นักโบราณคดีพบชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผามากมาย ซึ่งมีทั้งกาต้มน้ำดินเผา และหม้อดินเผาสีเทาที่ภายในเต็มไปด้วยทราย หม้อดินเผาสีแดง และขวดก้นแหลม
เผยระบุว่า การค้นพบครั้งนี้มีคุณค่าทางวิชาการอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาลักษณะทางวัฒนธรรมของยุคหินใหม่ในลุ่มน้ำไท่หยวน และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ในไท่หยวนและนที่โดยรอบ
ทั้งนี้ วัฒนธรรมหย่างเสามีต้นกำเนิดบริเวณตอนกลางของแม่น้ำเหลือง ซึ่งถือเป็นต้นธารสำคัญของอารยธรรมจีน และเป็นที่รู้จักในวงกว้างเพราะขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีทำเครื่องปั้นดินเผาขั้นสูง
[caption id="attachment_242416" align="alignnone" width="900"] (ภาพจากสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีไท่หยวน : เครื่องปั้นดินเผาเคลือบสีที่ถูกค้นพบ)[/caption]