รีเซต

รู้หรือไม่ ? เมื่อเราหลับตา สีที่เราเห็นไม่ใช่สีดำสนิท แต่เป็นสี Eigengrau

รู้หรือไม่ ? เมื่อเราหลับตา สีที่เราเห็นไม่ใช่สีดำสนิท แต่เป็นสี Eigengrau
TNN ช่อง16
1 ตุลาคม 2567 ( 09:48 )
22

หากมีคนถามว่าเมื่อหลับตาเราจะมองเห็นสีอะไร หลาย ๆ คนคงตอบว่า “ดำ” หรือ “มืดสนิท” แต่รู้หรือไม่ว่าสีที่เราเห็นนั้นไม่ใช่สีดำ แต่มันจะเป็นสีที่อ่อนกว่าสีดำ เรียกว่า "ไอเกินกรอว์ (Eigengrau)" 


คำว่า "Eigengrau" มาจากภาษาเยอรมัน มีความหมายว่า "สีเทาโดยเนื้อแท้" หรือ “สีเทาด้วยตัวของมันเอง” คำนี้ปรากฏครั้งแรกในศตวรรษที่ 19 โดยนักปรัชญาและนักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ชื่อ กุสตาฟ เฟชเนอร์ (Gustav Fechner)  ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความรู้สึกและการรับรู้ของมนุษย์ โดยได้ทำการทดลองที่เรียกว่า “Method of Limits” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้ในสภาพแวดล้อมที่มืดสนิท แต่มนุษย์จะยังคงมองเห็นเฉดสีเทาอยู่ 


ทำไมเรามองเห็นสี Eigengrau ?

มนุษย์เรามองเห็นได้ด้วยเซลล์รับแสง 2 เซลล์ คือ เซลล์รูปแท่ง (Rods) และ เซลล์รูปกรวย (Cones) ซึ่งอยู่ในเรตินาของดวงตา เซลล์ที่ทำให้เรามองเห็นสีต่าง ๆ คือเซลล์รูปกรวย เนื่องจากเป็นเซลล์ที่สามารถตอบสนองต่อความยาวคลื่นที่แตกต่างกันได้ ส่วนเซลล์รูปแท่ง จะไม่สามารถแยกแยะสีได้ แต่จะมีความไวต่อแสงมากกว่า


หากดวงตาของเราเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจากสว่างไปมืด เช่น เปลี่ยนจากกลางแจ้งที่แสงจ้า เข้าไปในตู้เสื้อผ้าที่มืดมิด ดวงตาจะเปลี่ยนมาใช้งานเซลล์รูปแท่งมากกว่าเซลล์รูปกรวย สัญญาณแสงเล็ก ๆ ที่ส่งไปยังสมองทำให้เรารับรู้ว่าเราเห็นเฉดสีเทาเข้ม ซึ่งก็คือ Eigengrau 


สี Eigengrau เป็นอย่างไร ?

หากต้องการทราบว่าสี Eigengrau เป็นอย่างไร วิธีที่ง่ายและทำได้อย่างรวดเร็วก็คือการหลับตา แต่หากต้องการเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนขึ้น สามารถเปรียบเทียบในตารางสีได้ โดยสีดำสนิทจะมีรหัส #000000 ในขณะที่สี Eigengrau จะอยู่ที่รหัส #16161d 


สี Eigengrau รหัสสี #16161d ที่มา : Hexcolorpedia


ส่วนหากใครอยากทำการทดลองเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ให้หยิบวัตถุสีดำขึ้นมา จ้องมองมันสักครู่ จากนั้นปิดตาประมาณ 2 - 3 วินาที เมื่อลืมตาขึ้นมาอีกครั้ง จะสังเกตเห็นว่าวัตถุสีดำนั้นดำสนิทกว่าที่สีเห็นในตอนที่หลับตา 


อย่างไรก็ตาม คำว่า Eigengrau ไม่ค่อยปรากฏในงานวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เท่าไหร่นัก แต่นักวิทยาศาสตร์มักใช้คำที่เป็นทางการมากกว่า เช่น “Visual Noise” (สัญญาณรบกวนทางสายตา) หรือ “Dark Noise” (สัญญาณรบกวนในที่มืด) ซึ่งอธิบายถึงการที่ดวงตาของเราตอบสนองต่อแสงและการปรับตัวเมื่ออยู่ในความมืดนั่นเอง


นี่นับเป็นเกร็ดเล็กน้อยที่น่าสนใจ รวมไปถึงเป็นอีกหนึ่งกระบวนการทำงานอันมหัศจรรย์เกี่ยวกับร่างกายของเรา ครั้งต่อไปเมื่อหลับตาเราก็จะรู้แล้วว่าสีที่ปรากฏนั้นไม่ใช่สีดำหรือมืดสนิท ทว่าคือสี Eigengrau นั่นเอง


ที่มาข้อมูล IFLScienceTimesnownews

ที่มารูปภาพ Hexcolorpedia

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง