รีเซต

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วยังติดเชื้อ "หมอยง" ตอบชัดเหตุใดยังต้องฉีดป้องกันอยู่?

ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วยังติดเชื้อ "หมอยง" ตอบชัดเหตุใดยังต้องฉีดป้องกันอยู่?
TNN ช่อง16
15 กรกฎาคม 2565 ( 08:22 )
118
ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วยังติดเชื้อ "หมอยง" ตอบชัดเหตุใดยังต้องฉีดป้องกันอยู่?

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คลายข้อสงสัยเหตุใดยังต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อฉีดไปแล้วบางรายยังติดเชื้อโควิด-19 ได้ พร้อมเปิดไทม์ไลน์การระบาดของโรคโควิด-19 ปัจจุบันไทยเผชิญระลอกที่ 6 แล้ว...

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่นี้นับเป็นระลอก ที่ 6 เป็นการระบาดด้วยสายพันธุ์ โอมิครอน BA.5 จะมีจุดสูงสุดปลายเดือนนี้ โดยยังพบว่าผู้ป่วยหลายคนที่ติดเชื้อโควิด-19 บางรายเกิดการติดเชื้อซ้ำ ขณะที่อีกหลายรายแม้ฉีดวัคซีนมาแล้วหลายเข็มก็ยังติดเชื้อโควิด-19 ได้อยู่

ล่าสุด วันนี้ (15 ก.ค.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวช ศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงกรณีดังกล่าวนี้ ว่าเกิดจากเหตุใด ทำไมฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อโควิด-19 ได้อีก

ทำไมยังต้องฉีดวัคซีน เมื่อฉีดแล้วยังติดเชื้อโควิด-19

โควิด-19 ฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อ หรือเป็น โควิดได้อีก แล้วทำไมยังต้องฉีดวัคซีน โดยเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าโรคโควิด-19 เป็นแล้วเป็นอีกได้ และเช่นเดียวกัน ฉีดวัคซีนแล้วก็สามารถติดเชื้อได้ 

การฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อ จะช่วยป้องกันลดความรุนแรงของโรคได้ การฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่จะกระตุ้นภูมิต้านทานจำเพาะ ต่อ B และ T เซลล์ ภูมิต้านทาน ต่อ B เซลล์ จะเป็นการสร้าง แอนติบอดี เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อมาจับกับเซลล์ และป้องกันการติดเชื้อ

ภูมิที่สร้างขึ้นในระยะแรกจะมีระดับสูง เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ และจะลดลงตามระยะเวลา ในขณะเดียวกัน ไวรัสก็มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ทำให้ต้องใช้ระดับภูมิต้านทานที่สูงขึ้นอีก จึงไม่สามารถที่จะป้องกันการติดเชื้อได้  

แต่เมื่อติดเชื้อแล้ว การหายของโรค รวมทั้งลดความรุนแรง ระบบ T เซลล์ จะเข้ามาช่วยจัดการ ให้หายได้เร็วขึ้น และระบบนี้ยังมีหน่วยความจำ ให้รู้จักหน้าตาของไวรัส เข้ามาเสริม สนับสนุนให้ B เซลล์ สร้างภูมิต้านทานได้เร็วขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อจริง 

การฉีดวัคซีนจึงเปรียบเสมือน การฝึกทหารเกณฑ์ ให้รู้จักข้าศึกหรือตัวไวรัส เมื่อเวลาผ่านไปหรือยามสงบ ก็ปลดเป็นกองหนุน และเมื่อมีข้าศึกหรือไวรัสเข้ามา ทหารที่ผ่านการฝึกแล้ว เคยเห็นหน้ารู้จักข้าศึกหรือไวรัส พร้อมที่จะต่อสู้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องไปฝึกยุทธวิธีใหม่ 

และถ้าฝึกมานานแล้ว จำเป็นจะต้องให้วัคซีนกระตุ้นอีก เพื่อเอาทหารกองหนุนมาฝึกอีกครั้งหนึ่งให้ชำนาญยิ่งขึ้น และยามปกติก็จะปลดประจำการ และจำเป็นจะต้องมีการฝึกเป็นครั้งคราว หรือกระตุ้นด้วยวัคซีนเป็นครั้งคราว เผื่อเวลามีข้าศึกมา จะได้มีความชำนาญพร้อมที่จะต่อสู้ได้ทันที ทำให้อาการของโรคลดลง

"หมอยง" เปิดไทม์ไลน์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้าสู่ระลอกที่ 6

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ นับเป็นระลอก ที่ 6 เป็นการระบาดด้วยสายพันธุ์ โอมิครอน BA.5 

การระบาดระลอกแรก 

เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมถึงเมษายน  2563  ที่สนามมวยและสถานบันเทิง เป็นจุดเริ่มต้น มีผู้ป่วยเป็นหลักสิบ  สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น 

การระบาดระลอกที่ 2 

เกิดเริ่มต้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ในแรงงานต่างด้าว กลางเดือนธันวาคม  2563  มีผู้ป่วยเป็นหลักร้อยต่อวัน สายพันธุ์ที่พบเป็นสายพันธุ์ G 

การระบาดระลอกที่ 3

เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2564  เริ่มจากสถานบันเทิงที่ทองหล่อ โดยนำเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ หรือต่อมาเรียกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า มีผู้ป่วยเป็นหลักพัน ต่อวัน

การระบาดระลอกที่ 4

เกิดขึ้นหลังจากการระบาดด้วยสายพันธุ์แอลฟาเริ่มลดลง ก็มีสายพันธุ์อินเดีย  หรือที่เรียกว่าสายพันธุ์เดลต้า เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 มีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น และอยู่จนถึงปลายปีจึงเริ่มลดลง

การระบาดระลอกที่ 5

เกิดขึ้นในช่วงปีใหม่ 2565  ด้วยสายพันธุ์โอมิครอน โดยเริ่มจาก BA. 1 แล้วตามด้วย BA.2 มีผู้ป่วยหลายหมื่นคนต่อวัน เมื่อค่อยๆลดลง และลดลงมาจนถึงต้นเดือนมิถุนายน 

การระบาดระลอกที่ 6

พอกลางเดือนมิถุนายน ก็มีการระบาดระลอกใหม่เป็นรอบที่ 6 ที่เป็นสายพันธุ์ BA.5 และในช่วงนี้ เกิดการระบาดอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว 

โดยคาดการณ์ว่า ขณะนี้น่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่หลักหมื่น และมีการนอนโรงพยาบาล ตามตัวเลขที่ประกาศ ประมาณ 2,000 คน เสียชีวิต 20 คน หรืออัตราการเสียชีวิต น่าจะอยู่ที่หนึ่งในพันของผู้ติดเชื้อ น้อยลงกว่าการระบาดในระลอกแรกๆ



การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 6 ยังไม่ถึงจุดสูงสุด

ศ.นพ.ยง ระบุด้วยว่า การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้นับเป็นระลอก ที่ 6 เป็นการระบาดด้วยสายพันธุ์ โอมิครอน BA.5 จะมีจุดสูงสุดปลายเดือนนี้และตลอดเดือนหน้า สิงหาคม เดือนหน้านักเรียนมหาวิทยาลัยก็จะเปิดเทอมหมด และจะเริ่มลดลงในช่วงนักเรียนสอบและปิดเทอม

ทุกอย่างต้องเดินหน้า ด้วยมาตรการให้ความสำคัญในการลดการติดเชื้อ และจะไม่มีการ ปิดเมือง ปิดประเทศ ปิดโรงเรียน แล้ว ทุกอย่างมีความสำคัญกับอนาคตของประเทศ

จำนวนผู้ป่วยถ้าคิดเป็นสัดส่วนจะพบว่ามีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ไม่เกิน 1% ของผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือน่าจะ เป็น 0.1% หรือน้อยกว่าของผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งตัวเลขนี้กำลังลดลงไปใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่

เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ เราจึงเห็นสัดส่วนของการนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน 

ภาพจาก Yong Poovorawan

ดังนั้น ถึงแม้จะมีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น หรือหลายหมื่น จะมีผู้เข้ารับการรักษาและแจ้งยอดให้กระทรวงสาธารณสุข จะอยู่ที่ 2,000 คน และมีการเสียชีวิต 20 คน ดังนั้นอัตราการเสียชีวิตในจำนวนนี้ จะอยู่ที่ยอดผู้ป่วยติดเชื้อทั้งสิ้นหลายหมื่นคน ซึ่งสูงกว่าระลอกที่ 5 แน่นอน เพราะส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสี่ยงสูงควรได้รับวัคซีนให้เต็มที่เพื่อลดอาการ และถ้าติดเชื้อถึงแม้จะมีอาการน้อย ทันทีที่รู้ว่าติดเชื้อ ก็ควรจะได้รับยาต้านไวรัสเพื่อการรักษาในทันที ให้เร็วที่สุดเพื่อลดการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิต.


ข้อมูลจาก Yong Poovorawan

ภาพจาก TNN ONLINE 



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง