รีเซต

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย.ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังโควิดระบาดรอบ 3 เสียหายกว่า 4 แสนล้านบาท

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย.ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังโควิดระบาดรอบ 3 เสียหายกว่า 4 แสนล้านบาท
TNN Wealth
7 พฤษภาคม 2564 ( 09:25 )
42
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย.ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลังโควิดระบาดรอบ 3 เสียหายกว่า 4 แสนล้านบาท

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.อยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือนมี.ค.64 ซึ่งอยู่ที่ 48.5 โดยลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 40.3 จาก 42.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 42.9 จาก 45.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 54.7 จาก 57.7


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีความเปราะบาง จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิดรอบที่ 3 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเม.ย. ปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด และลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจมาในเดือนต.ค. 2541 และคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค.ยังมีโอกาสจะปรับลดลงได้ต่อเนื่อง ถ้าสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศยังไม่เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น และคาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะอยู่ที่ 300,000-450,000 ล้านบาทและหากสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นก็จะยิ่งสร้างโอกาสความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น


ขณะที่มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ วงเงิน 240,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลอยู่ในช่วงไตรมาส 2 ประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท ที่มาจากโครงการเราชนะ, ม33เรารักกัน, มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ และมาตรการสินเชื่อต่างๆ เม็ดเงินดังกล่าวยังน้อยเกินไปสำหรับการลงไปช่วยระบบเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ดังนั้นจึงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก ดังนั้นจึงทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 มีโอกาสจะเติบโตได้เพียง 3-5% จากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะเติบโตได้ 8-9% อย่างไรก็ตามหากเศรษฐกิจไทยไม่ได้รับมาตรการการกระตุ้นที่เหมาะสม รวมทั้งไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศได้ ก็มีโอกาสที่จีดีพีปีนี้จะเติบโตเหลือเพียง 0-1.5% จากที่คาดว่าจะเติบโตได้ 2.5-3% 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง