รีเซต

เปรียบเทียบขนาดดาวเคราะห์น้อย Didymos และ Dimorphos เป้าหมายในภารกิจ DART

เปรียบเทียบขนาดดาวเคราะห์น้อย Didymos และ Dimorphos เป้าหมายในภารกิจ DART
TNN ช่อง16
28 กันยายน 2565 ( 10:39 )
79
เปรียบเทียบขนาดดาวเคราะห์น้อย Didymos และ Dimorphos เป้าหมายในภารกิจ DART

DART (Double Asteroid Redirection Test) เป็นภารกิจทดสอบระบบเบี่ยงเส้นทางดาวเคราะห์น้อยคู่ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา (NASA) โดยมีเป้าหมายเพื่อการทดลองใช้ยานอวกาศพุ่งชนเพื่อผลักดันดาวเคราะห์น้อยให้เปลี่ยนแปลงวงโคจร และเป็นที่ทราบกันดีว่าผลการทดลองนั้นประสบความสำเร็จ โดยยานอวกาศดาร์ท (DART) สามารถเข้าชนกับดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) ดาวเคราะห์น้อยบริวารที่โคจรคู่กับดาวเคราะห์น้อยดิดิมอส (Didymos) ที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการศึกษาการเปลี่ยนเส้นทางวงโคจรทั้ง 2 ดาว เพื่อหาแนวทางป้องกันวัตถุในอวกาศพุ่งชนโลกในอนาคต



ขนาดดาวเคราะห์น้อยในโครงการดาร์ท (DART)


ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส (Dimorphos) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 163 เมตร เกือบ 9 เท่า ของความยาวยานอวกาศดาร์ท (DART) ซึ่งเป็นของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่ยาวเพียง 19 เมตร หรือสูงกว่าเทพีเสรีภาพ (Statue of Liberty) ที่สูง 93 เมตร เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเทียบไม่ได้กับดาวเคราะห์น้อยดิดิมอส (Didymos) ที่เป็นดาวแกนกลางที่ไดมอร์ฟอส (Dimorphos) โคจรรอบ


ดาวเคราะห์น้อยดิดิมอส (Didymos) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 780 เมตร มากกว่า 2 เท่า ของตึกแม็กโนเลียส วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสสิเดนซ์ (Magnolias Waterfront Residences) ที่ตั้งตระหง่านด้วยความสูง 317.5 เมตร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม (ICONSIAM) โดยดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีเพียงตึกที่สูงที่สุดในโลกอย่างเบิร์จ คาลิฟา (Burj Khalifa) ที่สูงถึง 830 เมตร เท่านั้นที่ยังพอวัดเทียบได้ 


ความสูงของดาวเคราะห์น้อยทั้ง 2 ดวง รวมถึงระยะทางที่ห่างจากโลกราว 11 ล้านกิโลเมตร เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ดาร์ท (DART) เลือกดาวเคราะห์น้อย 2 ดวงนี้ เป็นเป้าหมายในการศึกษาวิจัย เพราะการชนจะทำให้เกิดสะเก็ดดาวเคราะห์ขึ้นมา แต่ด้วยระยะทางที่ไกลก็จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อโลก แต่ก็ใกล้โลกพอที่ยานอวกาศจะเดินทางได้เร็วและสามารถสังเกตตลอดจนส่งข้อมูลมายังโลกได้ 


อย่างไรก็ตาม ภารกิจการชนวัตถุในอวกาศเพื่อการศึกษาวิจัยนั้นไม่ได้มีภารกิจดาร์ท (DART) เพียงภารกิจเดียว เพราะในปี 2016 องค์การอวกาศยุโรป (ESA) เคยนำยานอวกาศโรเซตตา (Rosetta) พุ่งชนดาวหาง 67P ซึ่งห่างจากโลกไปราว 510 ล้านกิโลเมตร หลังจากภารกิจการสำรวจดาวหางดวงนี้เป็นเวลากว่า 2 ปี


ที่มาข้อมูล NASA, DLR Portal, สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ที่มารูปภาพ NASA


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง