รีเซต

กลาโหมสหรัฐฯ ปลดล็อกกฎหมาย ทำให้โดรนกลายเป็นอุปกรณ์ประจำกายทหารสหรัฐฯ ทั่วโลก

กลาโหมสหรัฐฯ ปลดล็อกกฎหมาย ทำให้โดรนกลายเป็นอุปกรณ์ประจำกายทหารสหรัฐฯ ทั่วโลก
TNN ช่อง16
14 กรกฎาคม 2568 ( 10:53 )
12

เดอะ เพนตากอน (The Pentagon) หรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ประกาศให้โดรนหรือระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial System: UAS) ขนาดเล็ก ทั้งแบบสังเกตการณ์หรือแบบติดอาวุธ จัดเป็นยุทธภัณฑ์สิ้นเปลือง (Consumable armanant) ประเภทเดียวกันกับกระสุนปืน ซึ่งจะทำให้ทหารระดับปฏิบัติการทุกนายสามารถขอนำมาใช้ในปฏิบัติการต่าง ๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น

รูปแบบโดรน

ในประกาศดังกล่าวได้อนุญาตให้มีการใช้โดรนเป็นยุทธภัณฑ์แบบสิ้นเปลืองทั้งหมด 2 รูปแบบ ดังนี้

  1. โดรนกลุ่มที่ 1 (Group 1) เป็นโดรนที่มีน้ำหนักไม่เกิน 20 ปอนด์ หรือประมาณ 9 กิโลกรัม มีระดับเพดานการบิน (Altitude) ไม่เกิน 1,200 ฟุต หรือประมาณ 360 เมตร ความเร็วในการบินสูงสุดไม่เกิน 100 น็อต หรือประมาณ 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

  2. โดรนกลุ่มที่ 2 (Group 2) เป็นโดรนที่มีน้ำหนัก 21 - 55 ปอนด์ หรือประมาณ 9.5 - 25 กิโลกรัม มีระดับเพดานการบิน (Altitude) ไม่เกิน 3,500 ฟุต หรือประมาณ 1,000 เมตร ความเร็วในการบินสูงสุดไม่เกิน 250 น็อต หรือประมาณ 460 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำโดรนที่มีน้ำหนัก 55 - 1,320 ปอนด์ หรือประมาณ 25 - 600 กิโลกรัม มีระดับเพดานการบิน (Altitude) ไม่เกิน 18,000 ฟุต หรือประมาณ 5,490 เมตร ความเร็วในการบินสูงสุดไม่เกิน 250 น็อต หรือประมาณ 460 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จัดเป็นกลุ่มที่ (Group 3) ด้วยเช่นกัน

เป้าหมายที่กลาโหมสหรัฐฯ ให้โดรนเป็นยุทธภัณฑ์สิ้นเปลือง

การประกาศจัดโดรนให้เป็นยุทธภัณฑ์สิ้นเปลือง จะทำให้หน่วยรบขนาดเล็กต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ทั่วโลก สามารถจัดหาเข้าประจำการหรือประจำตัวทหารแต่ละนายเพื่อใช้ในภารกิจต่าง ๆ ตามที่เห็นเหมาะสมได้ ซึ่งจะยกระดับประสิทธิภาพของภารกิจ และเป็นการเสริมความคล่องตัวในการเลือกใช้โดรนตามที่ต้องการได้สะดวกยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในประกาศยังทำให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศโดยรวมมีปริมาณความต้องการ (Demand) มากขึ้น เนื่องจากความต้องการที่สำรวจเบื้องต้นมีความต้องการใช้งานในระดับหลักพันลำ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตทั้งรายใหญ่และรายย่อยในประเทศเกิดการจ้างงาน การสร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การทำงานด้วยระบบ AI หรือการติดอาวุธคืบหน้าและมีต้นทุนที่ต่ำลงในอนาคตอีกด้วย

การประกาศนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจากรัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการให้โดรนมีบทบาทสำคัญในภารกิจทางทหารยุคใหม่ ซึ่งภายในปี 2026 นี้ การอนุมัติการใช้งานโดรนจะสามารถให้นายทหารใด ๆ ที่มียศระดับนายพันเป็นผู้มีสิทธิ์สั่งการใช้โดรนเพื่อบินสำรวจ ติดอาวุธ โจมตี หรือการใช้เพื่อการวิจัยทางการทหาร จากเดิมที่เป็นอำนาจของศูนย์บัญชาการหรือหน่วยที่ได้รับอำนาจจากกระทรวงกลาโหมเท่านั้น



ข่าวที่เกี่ยวข้อง