รีเซต

ศรีลังกาเสี่ยงเป็นรัฐล้มละลาย จากวิกฤตหนักสุด นับแต่เป็นเอกราช

ศรีลังกาเสี่ยงเป็นรัฐล้มละลาย จากวิกฤตหนักสุด นับแต่เป็นเอกราช
TNN ช่อง16
18 เมษายน 2565 ( 11:57 )
190
ศรีลังกาเสี่ยงเป็นรัฐล้มละลาย จากวิกฤตหนักสุด นับแต่เป็นเอกราช

---ศรีลังกากำลังจะเป็นรัฐล้มละลาย?---


ศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดในรอบ 74 ปี นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ จากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล จนทำให้เกิดคำถามว่า ศรีลังกากำลังจะเป็นรัฐล้มละลายหรือไม่


ตลาดหลักทรัพย์โคลัมโบ หรือ CSE ปิดไปในช่วงวันหยุดปีใหม่ตามประเพณี ประกาศหยุดการซื้อขายเป็นเวลา 5 วัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่กลับประกาศหยุดการซื้อขายเพิ่มเป็นเวลา 5 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ (18 เมษายนเป็นต้นไป หลังศรีลังกาได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และประกาศระงับการชำระหนี้ต่างประเทศเป็นการชั่วคราว 


บรรดาโบรกเกอร์คาดว่า หุ้นจะร่วงอย่างหนักในวันจันทร์นี้ หลังจากธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเกือบสองเท่าของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ 14.5% หลังปิดตลาดเมื่อวันที่ 8 เมษายน ซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายก่อนวันหยุด


ดัชนีแบบ all-share ของ CSE ร่วงลงมากกว่า 38% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ค่าเงินรูปีของศรีลังการ่วงลงมากกว่า 35% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนที่ผ่านมา


CSE ระบุว่า หน่วยงานกำกับดูแลเชื่อว่านี่จะเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุนในตลาด หากพวกเขาได้ทราบความชัดเจนและเข้าใจในสภาพเศรษฐกิจมากขึ้น


---ประชาชนเดินหน้าประท้วงต่อเนื่อง


วิกฤตครั้งนี้ทำให้ชาวศรีลังกา 22 ล้านคนต้องเผชิญความทุกข์ยาก และนำไปสู่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา


ประชาชนหลายพันคนตั้งแคมป์นอกทำเนียบประธานาธิบดีศรีลังกาเป็นวันที่แปดติดต่อกัน พร้อมกับตะโกนขับไล่ประธานาธิบดี


ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีมหินทา ราชปักษา เสนอเชิญตัวแทนของกลุ่มผู้ประท้วงที่ปักหลักชุมนุมตรงทางเข้าทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงโคลัมโบ เข้าร่วมการเจรจากับเขา โดยจะยินดีรับฟังข้อเสนอแนะในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่รุมเร้าประเทศในขณะนี้ 


อย่างไรก็ดี ผู้ประท้วงบางส่วนคัดค้านข้อเสนอเจรจา โดยบอกว่าในเมื่อคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ต้องการให้เขาอยู่ต่อ ก็ควรจะพาคนทั้งตระกูลกลับบ้านไป นอกจากนี้ ผู้ประท้วงบางส่วน ยังเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับบรรดาผู้นำรัฐบาลให้ได้รับโทษจำคุกด้วย


ผู้ประท้วงในศรีลังกา ปักหลักชุมนุมติดต่อกันกว่า 1 สัปดาห์ เพื่อกดดันให้ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา น้องชายของนายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ และขอให้ตระกูลราชปักษาพ้นจากอำนาจให้หมด 


โดยกล่าวหาว่า พวกเขาทุจริตคอร์รัปชัน และบริหารประเทศผิดพลาด ทำให้ชาวศรีลังกาเดือดร้อนจากปัญหาอาหารและเชื้อเพลิงขาดแคลน และการตัดไฟวันละ 13 ชั่วโมง หลังจากประเทศมีเงินตราต่างประเทศไม่เพียงพอ เพื่อนำเข้าสินค้าและเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และยังมีภาระหนี้สูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ครบกำหนดชำระภายในระหว่าง 5 ปีข้างหน้า


---ฝ่ายค้านเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก


ขณะที่พรรคซามากี จานา บาลาวีกายา หรือ SJB ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านประกาศให้เวลาประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีลาออกภายในเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้าสู่รัฐสภา โดยพรรคมองว่าเสถียรภาพทางการเมืองเป็นเงื่อนไขสำคัญ ก่อนจะมีการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และประชาชนไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้


ล่าสุด บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้ง Fitch Ratings และ S&P Global Ratings ได้ลดอันดับความน่าเชื่อทางการเงินของศรีลังกา หลังพบว่า ธนาคารกลางศรีลังกาเริ่มระงับการชำระคืนหนี้ต่างประเทศชั่วคราวแล้ว เพื่อเก็บเงินตราต่างประเทศไว้สำหรับนำเข้าสินค้าจำเป็น เช่น น้ำมัน


อย่างไรก็ดี ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกากล่าวว่า การกระทำครั้งนี้มีเจตนาดี และเน้นว่า ศรีลังกาไม่เคยผิดนัดชำระหนี้มาก่อน ยืนยันการงดชำระหนี้ต่างประเทศนี้จะเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น จนกว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับเจ้าหนี้และเมื่อได้รับการสนับสนุนจากโครงการเงินกู้กับ IMF


---ครอบครัวที่ทรงอิทธิพล---


ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤตครั้งนี้ ศรีลังกาเป็นประเทศในเอเชียใต้ที่มีอันดับสูงสุดในดัชนีการพัฒนามนุษย์ และมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับสองในเอเชียใต้ 


วิกฤตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดการล่มสลายของสกุลเงิน เงินเฟ้อพุ่งพรวดพราด ตามมาด้วยวิกฤตด้านมนุษยธรรมอันเนื่องมาจากการขาดแคลนสิ่งของจำเป็นอย่างรุนแรง


ความไม่พอใจของผู้ประท้วงพุ่งเป้าไปที่ครอบครัวราชปักษา ซึ่งยึดทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งสำคัญ  ในรัฐบาลอีกมากมาย


ตระกูลนี้ปกครองศรีลังกาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ข้อวิพากษ์วิจารณ์หลักต่อผู้มีอำนาจที่ทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตจนชาวบ้านไม่มีน้ำไม่มีไฟฟ้าตกงาน และราคาข้าวของแพงอย่างรุนแรงนั้น กลายเป็นปัญหาหลัก


ทั้งประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา และนายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา ต่างใช้นโยบายกู้ยืมเงินก้อนมหาศาลจากต่างชาติ เป็นเงินกู้ที่เอาไปใช้ในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก 


---การผูกขาดทางอำนาจ---


ศรีลังกากำลัง “ใกล้เข้าสู่ภาวะล้มละลาย” ด้วยหนี้ระหว่างประเทศราว 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีกำหนดชำระหนี้ภายในปีนี้เกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกาประกาศว่า จำเป็นต้องผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ทางการศรีลังกามีกำหนดหารือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ในเดือนนี้ อีกส่วนหนึ่งก็ต้องกู้ยืมเงินฉุกเฉินจากจีนและอินเดีย


ไม่ใช่เพียงแต่คืนเงินกู้ แต่ยังต้องหาเงินมาซื้อหาอาหารและเชื้อเพลิงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันแสนสาหัสของประชาชนด้วย


ภาพความรันทดของชาวศรีลังกามีให้เห็นตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตระกูล “ราชปักษา” คือที่มาของปัญหาทั้งหลายทั้งปวง


เป็นที่รู้กันว่าอิทธิพลบารมีทางการเมืองของตระกูลนี้ เริ่มด้วยบทบาทของนายกรัฐมนตรี “มหินทรา ราชปักษา”  ตอนที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกา ช่วงปี 2009


เขาได้รับความชื่นชอบจากประชาชนขณะนั้นด้วยผลงานที่สามารถยุติสงครามกลางเมืองจากความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ที่ลากยาวมาถึง 25 ปี


แต่นั่นไม่ได้แปลว่าตระกูลนี้จะสามารถผูกขาดอำนาจการเมืองในทุก  ด้านอย่างยาวนานเช่นนี้


เพราะคนจากตระกูลนี้ได้ตำแหน่งแห่งหนในกระทรวงทบวงกรมมากมายโดยไม่ตระหนักถึงภาพลักษณ์และความรู้สึกของคนที่มองว่านี่เป็นการเมืองที่ส่งต่อจากสมาชิกคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งในครอบครัวอย่างไม่รับผิดชอบ


จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดคือการที่ชาวศรีลังการู้สึกว่า เมื่อคนในตระกูลเดียวกันบริหารบ้านเมืองในเกือบทุกมิติ ก็ย่อมจะกระทบกับความเป็นอิสระในการบริหารประเทศ


พอเกิดวิกฤต แทนที่จะแสวงหาคนที่มีความรู้ความสามารถและมืออาชีพในแก้ปัญหา กลับยังรักษาฐานอำนาจของคนกลุ่มเดียวกันเอาไว้


ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ได้เสนอการจัดตั้ง “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” เพื่อรับมือกับวิกฤตที่มีแต่เสื่อมทรามลง แต่พรรคฝ่ายค้านไม่เล่นด้วย


ต่อมารัฐมนตรีหลายคนยื่นใบลาออกพร้อมกัน ตามมาด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคร่วมรัฐบาลเกือบ 40 คนก็ประกาศลาออกเช่นกัน ทำให้รัฐบาลขาดเสียงข้างมากในสภา


แต่ผู้นำตระกูลนี้ก็ยังไม่ยอมยุบสภาให้ประชาชนตัดสินชะตากรรมของตน กลายเป็นรัฐล้มละลายในภาวะล้มเหลว เพราะการเมืองที่อำนาจกระจุกตัวและนโยบายที่ผิดพลาดจนประชาชนตกนรกเศรษฐกิจกันทั้งประเทศ

————— 

แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ 

ภาพ: Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง