ความกังวลของ ‘เด็กจบใหม่’ กับวิกฤตโควิด-19
จากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกตอนนี้ ได้สร้างผลกระทบความเสียหายต่าง ๆ ให้กับหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โรคภัย เศรษฐกิจ การใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่การทำงานด้วยก็เช่นกัน เพราะเมื่อกล่าวถึงเศรษฐกิจตอนนี้ที่ตกต่ำจนทำให้บางบริษัทแก้ปัญหาโดยปลดพนักงานออก เพื่อพยุงตัวเองและเพื่อความอยู่รอด ส่งผลให้เกิดภาวะคนตกงานเพิ่มมากขึ้น และผลกระทบที่ตามมาอีกอย่างเลยคือ “เด็กจบใหม่” นักศึกษามหาลัยที่พึ่งจบ ต้องหยุดชะงักกับการทำเรื่องเรียนจบ รวมถึงการหางานทำอีกด้วย
โดยจากสถิติการว่างงานในประเทศไทยของปี 2562 มีคนว่างงานถึง 373,400 คน ซึ่งเด็กจบใหม่ในปี 2562 นั้นมีถึง 1,113,995 คน และในส่วนของคนที่ไม่ได้งานในปี 2562 นั้น จะกลายมาเป็นคู่แข่งในการสมัครงานกับเด็กจบใหม่ในปีถัดไปคือปี 2563 ซึ่งในปีนี้มีอัตรางานรองรับเพียงแค่ 18,775 เท่านั้น เพราะฉะนั้นตัวเลขพวกนี้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตจริงที่ต้องมีการแข่งขันกับอัตรางานที่รองรับไม่เพียงพอ และยังกลายมาเป็นแรงกดดันที่ทำให้พวกเขาเกิดความวิตกกังวลมากกว่าเดิมอีกด้วย (อ้างอิงจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
จากการสัมภาษณ์เด็กจบใหม่จากทั้งมหาวิทยาลัยรัฐฯ และเอกชน มีความกังวลมากเกี่ยวกับการหางานทำ และมีความกลัวในฐานะของเด็กจบใหม่ First Jobber ที่ต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ เศรษฐกิจไม่ดี คนตกงาน ตลาดแรงงานหยุดชะงัก ยากที่จะต้องหางานทำ โดยเฉพาบางครอบครัวเมื่อเรียนจบแล้วจะมีความคาดหวังจากทางบ้านอยากจะให้ลูกของตนเองมีงานดี ๆ ทำ ซึ่งทุกอย่างนี้ต้องหยุดชะงักลง และต้องกักตัวอยู่บ้านแทน เมื่อต้องกักตัว “ความกังวล” จึงเริ่มก่อตัวเพิ่มมากขึ้นสะสมมาก ๆ จนอาจกลายเป็นความเครียดได้
“จากการที่ฝึกงานมาหลายที่ ช่วงเวลาการทำปริญญานิพนธ์ พอผ่านช่วงนั้นมาได้ ก็ได้วางแผนว่าต้องไปเที่ยว ต้องสมัครงานที่ไหนบ้าง แต่แผนทุกอย่างกลับพังลง มันเหมือนเราเป็นเด็กจบใหม่ที่อยู่ในยุคโชคร้าย และต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจเลย” นางสาวจารุวรรณา แสงสมัคร คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาตร์คอนเวอร์เจ้นท์ จากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
“เราก็เริ่มเครียดนะ แล้วก็เครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรู้ตัวว่าแผนในอนาคตของเราทั้งหมดต้องยกเลิก วิกฤตโควิดไม่ได้ส่งผลกับเราแค่ตอนนี้ ปัจจุบันนี้ แต่มันยังส่งผลกระทบกับเราต่อไปในอนาคตข้างหน้า ตอนนี้คือโปรเจกต์จบก็โดนเลื่อนไปไม่มีกำหนด ไม่รู้ว่าจะได้จบจริง ๆ เมื่อไหร่ ฝึกงานก็โดนยกเลิก แพลนไปอเมริกาก็ไม่ได้ไป ตอนนี้เหมือนเรากำลังหลงทาง ไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อไปดี” นางสาวรวีรัตน์ ลีนาวงศ์ฐิติ คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการสื่อสารมวลชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวอย่างหนึ่งเสียงของเด็กจบใหม่ปี 2563 นี้
“เครียดมาก เพราะนอกจากจะหางานทำได้ยากหลังจากเรียนจบในปีนี้ที่มีโรคระบาด งานเสริมที่มีก็โดนยกเลิกทำให้รายได้ลดลง การเดินทางไปไหนค่อนข้างลำบากเพราะหวาดระแวงจากโรค ไหนจะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในช่วงที่ว่างงานอีก” อีกเสียงจากนักศึกษาจบใหม่
เสียงเหล่านี้เป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่งจากความกังวลที่ก่อตัวขึ้นตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา
อ.ดร.กุลวดี ทองไพบูลย์ นักจิตวิทยาคลินิก อุปนายกและประธานวิชาการ สมคมนักจิตวิทยาคลินิกแนะนำว่า ความวิตกกังวลมันส่งผลได้กับทุกวัยโดยเฉพาะในวัยนักศึกษาที่เริ่มจากความคิดวิตกกังวลจนทำให้เกิดความเครียดได้ ซึ่งจะส่งผลให้การใช้ชีวิตดูแย่ลง ยิ่งคนที่คิดมากวนเวียนไม่หยุดจะยิ่งมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งมีแนวทางการแก้ไขความวิตกกังวลนี้โดยการมองโลกในแง่ดี มองว่ามันคือโอกาสที่เราจะได้ทำสิ่งที่ชอบ ได้เรียนรู้ในช่วงที่พักไม่มีอะไรทำ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่ได้มีโอกาสแบบนั้น และถ้าเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่อยากทำอะไรเลย อยากนอนอยู่บนเตียงทั้งวัน อารมณ์แปรปรวนง่าย และเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว อาจจะต้องมีการไปพบแพทย์ หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323
“เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ให้ใจดีกับตัวเองนิดนึง จงมองให้ออกว่า สิ่งไหนที่เราคิดไปเอง หรือคิดไปถึงสิ่งที่มันยังไม่เกิดขึ้น บางทีคิดเยอะไปเราเองก็จะกังวลมาก เวลาเจอปัญหาให้ถอยออกมา และมองเข้าไปที่ปัญหาเราจะเห็นทางออก ให้มองว่าถ้าเพื่อเราเจอปัญหาเหล่านั้นเราจะบอกเพื่อนอย่างไร ใช้คำพูดเหล่านั้นมาปลอบตัวเราเอง เอาคำแนะนำของตัวเราเองที่ไปใช้กับคนอื่นมาใช้กับตัวเราเองบ้าง อย่าไปอยู่กับสิ่งที่ทำให้ตัวเองกังวล และหากิจกรรมให้กับตัวเองที่จะทำให้เราผ่อนคลายได้ สุดท้ายนี้จงอยู่กับปัจจุบันให้มากขึ้นค่ะ” อ.ดร.กุลวดี กล่าว