'กองทัพอากาศ' เผยความก้าวหน้า โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี เผยคุณสมบัติ 5 ประการ
'กองทัพอากาศ' เผยความก้าวหน้า โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน เผยคุณสมบัติ ลักษณะ 5 ประการ เพื่อประโยชน์สูงสุดและความคุ้มค่าในระยะยาว
วันที่ 7 มี.ค.65 ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่าตามที่กองทัพอากาศ แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและจัดทำความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตี โดยมี รองผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธาน มีผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศและเสนาธิการทหารอากาศ เป็นรองประธาน เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2565
คณะกรรมการฯ ได้จัดการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาภารกิจตามกฎหมาย ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลและได้กำหนดความต้องการเครื่องบินขับไล่โจมตีที่มีคุณภาพ (Quality Air Force) และมีเทคโนโลยีล้ำสมัย (Cutting-Edge Technology)
โดยเครื่องบินขับไล่โจมตีที่ต้องการ ต้องมีขีดความสามารถของการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Operations) มีการบริหารจัดการข้อมูลอัตโนมัติ ร่วมกับระบบตรวจจับของกองทัพไทยและฝ่ายพลเรือนได้อย่างสมบูรณ์ มีขีดความสามารถโจมตี ต่อต้านทางอากาศ ปฏิบัติกิจเฉพาะพิเศษ ลาดตระเวนและเฝ้าตรวจ เพิ่มระยะการปฏิบัติการทางอากาศ และการควบคุมการปฏิบัติทางอากาศที่มีประสิทธิภาพ
ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีสมรรถนะสูงยุคที่ 5 (The 5th Generation Fighter) มีคุณลักษณะ 5 ประการ ได้แก่ Stealth, Super Cruise, Sensor Fusion, Super Maneuverable และ Synergistic Integrated Avionics พร้อมกำหนดข้อพิจารณาประกอบการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทน สรุปดังนี้
1. เป็นเครื่องบินที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางทหาร (Military Standard) มาตรฐานจากองค์กรการบินสากล หรือองค์กรมาตรฐานของประเทศผู้ผลิต
2. เครื่องบิน ระบบต่าง ๆ และอุปกรณ์ที่ติดตั้งใช้งาน ต้องผลิตโดยใช้มาตรฐานทางทหาร และผ่านการพิสูจน์การใช้งานแล้ว มีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วไป
3. สามารถผลิตและนำส่งให้แก่กองทัพอากาศในกรอบงบประมาณและตามห้วงระยะเวลาการจัดหา
4. มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินขับไล่โจมตีและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่บุคลากรของกองทัพอากาศ
5. บุคลากรของกองทัพอากาศควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Offset Scholarship) เพื่อการพัฒนาด้านต่าง ๆ บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงคุณภาพของกำลังทางอากาศและขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางอากาศเป็นสำคัญ เพื่อประโยชน์สูงสุดและความคุ้มค่าในระยะยาว รวมทั้งการปกป้องผลประโยชน์และรักษาความมั่นคงของชาติ