SMD เฮ! เบิกประกันสังคม ตรวจนอนหลับ-ดันโตโดด
#SMD #ทันหุ้น – “วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์” บิ๊กบอส SMD ยิ้มรับประกันสังคมไฟเขียว เบิกค่ารักษาพยาบาลตรวจการนอนหลับ 7 พันบาท แถมเบิกค่าเครื่องได้อีก 2 หมื่นบาท ชี้จำนวนสิทธิ์บุคคลทั่วไปล้น เชื่อยอดปีนี้พุ่งเท่าตัวชน 500 ล้านบาท จากปีก่อน 220 ล้านบาท
ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD เปิดเผยว่า บริษัทคาดทิศทางธุรกิจตรวจการนอนหลับปี 2567 จะเติบโตโดดเด่น หลังจากสำนักงานประกันสังคมอนุมัติให้ผู้ป่วยทั่วไปสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลการตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Testและเครื่องการรักษาโรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับได้เท่ากับข้าราชการจากกรมบัญชีกลาง โดยเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ 7 พันบาท และเบิกค่าเครื่องช่วยหายใจซีแพพ (CPAP) ได้ 2 หมื่นบาท
** หนุนยอดโตโดด
ทั้งนี้บริษัทคาดปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนให้จำนวนผู้เข้าใช้บริการ Sleep Test มากขึ้น เพราะจำนวนบุคคลทั่วไปและมีสิทธิ์ประกันสังคมมากกว่าข้าราชการ ขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนข้าราชการและบุคลากรที่ไม่ใช่ข้าราชการ รวมทั้งสิ้น 2.91 ล้านคน แยกเป็นข้าราชการ 1.68 ล้านคน และบุคลากรรัฐที่ไม่ใช่ข้าราชการ 1.23 ล้านคน (ข้อมูลจากรายงานสังคมภาครัฐ มติ ครม. กรุงเทพธุรกิจรวบรวม 12 มิ.ย. 66)
ขณะที่คาดรายได้จากธุรกิจการตรวจการนอนหลับปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 220 ล้านบาท สำหรับธุรกิจตรวจการนอนหลับบริษัทเป็นการแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งบริษัทจะลงทุนเองทั้งหมด และแบ่งรายได้กัน ซึ่งบริษัทประเมินทิศทางธุรกิจตรวจการนอนหลับจะกลับมาดีมากในปี 2567 นอกจากนี้บริษัทยังรับจัดหาบุคลากรมาดูแลเครื่องมือพร้อมทั้งจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดร่วมกับโรงพยาบาลอีกด้วย
ทั้งนี้เครื่องตรวจและวิเคราะห์ความผิดปกติขณะนอนหลับมีให้บริการครอบคลุมทุกระดับทั้งแบบ PSG type I , PSG type II , PSG type III , PSG type IV
** ออกโปรดักต์ใหม่
โดยเครื่องตรวจการนอนหลับใช้เพื่อวิเคราะห์การทำงานระบบต่างๆ ของร่างกายขณะนอนหลับ เช่น ระบบการหายใจ คลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจและกล้ามเนื้อ รวมถึงศึกษาพฤติกรรมความผิดปกติขณะนอนหลับ อีกทั้งเครื่องยังมีขนาดเล็กกะทัดรัดและส่งสัญญาณแบบไร้สาย ทำให้สะดวกหากต้องการลุกจากเตียงไปเข้าห้องน้ำ
ประกอบกับระบบยังให้ความมั่นใจระบบการบันทึกข้อมูล และเครื่องป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศเยอรมนี มีใช้อย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลชั้นนำ
ดร.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ในปี 2567 บริษัทจะทรานส์ฟอร์มธุรกิจรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ในปี 2567 ยังเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งจะเข้ามาเสริมในส่วนของรายได้ประจำ (Recuring Income) เพิ่มมากขึ้น
ส่วนกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์ด้านเวชศาสตร์การนอนหลับมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ประชาชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการนอนอย่างมีคุณภาพ ทำให้มีความสนใจเรื่องเวลเนสมากขึ้น เช่น เครื่องออกซิเจนความดันสูง (mHBOT - Mild Hyperbaric Oxygen Chamber) และ Kegel Exercise System เป็นต้น
** งบไตรมาส 3/66
อนึ่ง ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2566 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ 182.9 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้จากการขายและบริการ 442.5 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิทำได้ 12.2 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 68.5 ล้านบาท ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) มีรายได้จากการขายและบริการ 581.2 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้จากการขายและบริการ 1,841.1 ล้านบาท
และมีกำไรสุทธิทำได้ 48.9 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 291.9 ล้านบาท สาเหตุที่ผลการดำเนินงานชะลอตัวมาจากยอดขายกลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไปลดลง โดยเฉพาะ Covid-19 ATK Test-Kit รวมทั้งยอดขายกลุ่มเวชบำบัดวิกฤติ ซึ่งมีความต้องการสินค้าลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565