รีเซต

“ปลิงทะเลขาว” ขึ้นทะเบียนสินค้า GI พังงา - แปรรูปเป็นยายับยั้ง “มะเร็ง”

“ปลิงทะเลขาว” ขึ้นทะเบียนสินค้า GI พังงา - แปรรูปเป็นยายับยั้ง “มะเร็ง”
TNN ช่อง16
27 มิถุนายน 2567 ( 19:37 )
29

วันนี้ ( 27 มิ.ย. 67 )นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ปลิงทะเลเกาะยาว” เป็นสินค้า GI ลำดับ 4 ของจังหวัดพังงา โดยมีการขึ้นทะเบียนไปแล้ว 3 ชนิดสินค้าทางการเกษตรประกอบด้วย ทุเรียนสาลิกา ข้าวไร่ดอกข่า และ มังคุดทิพย์พังงา สำหรับปลิงทะเลขาวพังงา คาดว่าจะเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่นิยมและต้องการของตลาดเป็นอย่างมากตอนนี้ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้มากถึง 3.3 ล้านบาทต่อปี


ทั้งนี้ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา ริมทะเลหาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีการศึกษาวิจัยเพาะเลี้ยงปลิงทะเล ซึ่งโดยมี นางอาภรณ์ เทพพานิช ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา สำหรับการเพาะเลี้ยงปลิงทะเลเกาะยาวภายในโรงเรือน ที่เริ่มตั้งแต่การเก็บพ่อแม่พันธุ์จากธรรมชาติ ในพื้นที่อำเภอเกาะยาว มาทำการเพาะพันธุ์ โดยการผสมไข่และน้ำเชื้อ จากนั้นเมื่อได้ตัวอ่อนนำไปอนุบาล จนได้ลูกปลิงระยะว่ายน้ำประมาณ 25 - 30 วัน แล้วนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ


สำหรับปลิงทะเลขาวที่เกาะยาวจะมีความแตกต่างจากที่อื่นเนื่องจาก มีความสมบูรณ์ของตัวปลิงขนาดใหญ่ เนื้อหนาและแน่น สังเกตได้จากความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์ เมื่อนำมาเพาะพันธุ์ พบว่าพ่อแม่พันธุ์ปลิงมีความแข็งแรง การเพาะพันธุ์สามารถให้ปริมาณไข่และน้ำเชื้อดีมาก พบว่าพ่อแม่จากเกาะยาว คุณภาพดีที่สุด โดยราคาขายปลิงทะเล ถ้าเป็นแบบสดจะขายอยู่ที่ ราคา 300 – 500 บาท/กิโลกรัม ส่วนแบบตากแห้ง ราคาจะจะอยู่ที่ 3,000 – 7,000 บาท/กิโลกรัมสร้างมูลค่าให้กับชาวเกาะยาว ส่วนใหญ่จะนิยมนำไปแปรรูปเป็นอาหาร ยา และเครื่องสำอาง



ปลิงทะเลขาว ป็นสัตว์ที่มีผิวลำตัวเป็นหนาม (Echinodermata) เช่นเดียวกับ ดาวทะเล ดาวเปราะ ดาวขนนก และเม่นทะเล ปลิงทะเลแตกต่างจากปลิงน้ำจืดคือปลิงน้ำจืดเป็นสัตว์ในกลุ่มหนอนปล้อง (Annelida) ได้แก่ ไส้เดือนดิน ทากดูดเลือด เป็นต้น แต่ปลิงทะเลไม่ดูดเลือดเหมือนปลิงน้ำจืด แต่กินเศษซากอินทรียสารเป็นอาหาร รูปทรงของปลิงทะเลส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นทรงกระบอกยาว ผิวลำตัวมีทั้งหนา บาง แล้วแต่ชนิด ปลายลำตัวด้านหนึ่งเป็นปากและอีกด้านหนึ่งเป็นทวาร รอบๆ ปากมีหนวด 10-30 เส้น ทำหน้าที่จับอาหารเข้าสู่ปาก 


ส่วนใหญ่ปลิงทะเล มักจะไม่เคลื่อนไหว แต่จะนอนนิ่งๆ อยู่กับที่ แต่ถ้าหากจะเคลื่อนที่ก็จะใช้ท่อ (tube feet) เป็นตัวขยับเดิน ปลิงทะเล ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทะเลที่สะอาด ปลิงทะเลจึงนับได้ไว้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของน้ำ และยังเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ช่วยรักษาความสมดุลในท้องทะเล ปลิงทะเลนั้นจะกินซากพืชหรือซากสัตว์ ตะกอนดิน แพลงก์ตอนที่ตายแล้วที่ทับถมกันบนทราย ช่วยย่อยอินทรีย์สารให้มีขนาดเล็กลงและปลดปล่อยสารอาหารที่มีขนาดเล็กให้สัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่าและจุลินทรีย์ต่าง ๆ ด้วยสารที่ขับออกมาจากอยู่ในรูปแบบของแอมโมเนีย ซึ่งแพลงก์ตอนนั้นสามารถนำไปใช้ได้


สำหรับประโยชน์ทางการแพทย์นั้นมีการศึกษาวิจัยสกัดสารจากผนังลำตัวปลิงทะเล พบว่ามีสารโฮโลท็อกซิน (Holotoxin) ที่มีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิด และยังได้พัฒนาไปใช้ยับยั้งการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งด้วย อีกทั้งเส้นใยสีขาวของปลิงทะเลบางชนิด ยังมีสารโฮโลทูริน (Holothurin) ที่มีคุณสมบัติในการขัดขวางการส่งความรู้สึกของกระแสประสาท ที่สามารถนำมาใช้ในการบำบัดความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดได้ 


ปลิงทะเลยังเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง พบว่า ในเนื้อของปลิงทะเลอุดมไปด้วยสารอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มิวโคโปรตีน (mucoprotein) ” ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูกอ่อน เอ็น การบริโภคปลิงทะเลจึงสามารถบรรเทาปัญหาการเสื่อมสมรรถนะของข้อ กระดูก ในผู้สูงอายุได้ ปลิงทะเลมีโปรตีนใกล้เคียงกับหมึกกล้วย ปูม้า หอยแมลงภู่ และหอยลาย มีไขมันต่ำมาก ปลิงทะเลจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการควบคุมไขมันได้เป็นอย่างดี


ข้อมูลจาก: ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดพังงา 

ภาพจาก ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดพังงา  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง