ธนาคารกลางสหรัฐฯ ถอนแนวทางควบคุมกิจกรรมคริปโตของธนาคาร

วันที่ 24 เมษายน คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve Board) ได้ประกาศถอนแนวทางการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของธนาคารในด้านคริปโตเคอเรนซีและโทเคนดอลลาร์ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนความคาดหวังที่มีต่อกิจกรรมเหล่านี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป และสนับสนุนนวัตกรรมในระบบธนาคารอย่างต่อเนื่อง
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คณะกรรมการจะเพิกถอนจดหมายกำกับดูแลปี 2022 ซึ่งเคยกำหนดให้ธนาคารสมาชิกของรัฐต้องแจ้งล่วงหน้าหากมีแผนหรือดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยต่อไปนี้ ธนาคารจะไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าอีก และคณะกรรมการจะใช้กระบวนการกำกับดูแลตามปกติในการติดตามกิจกรรมเหล่านี้แทน
นอกจากนี้ ยังมีการเพิกถอนจดหมายกำกับดูแลปี 2023 ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการไม่คัดค้านการมีส่วนร่วมของธนาคารสมาชิกในกิจกรรมโทเคนดอลลาร์
สุดท้าย คณะกรรมการยังประกาศร่วมกับสำนักงานคุ้มครองเงินฝาก (FDIC) และสำนักงานควบคุมสกุลเงิน (OCC) ในการถอนแถลงการณ์ร่วมปี 2023 สองฉบับที่เคยออกเกี่ยวกับความเสี่ยงและกิจกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลของธนาคาร
คณะกรรมการระบุว่าจะร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ เพื่อประเมินแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมนวัตกรรม และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต
ผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ถอนแนวทางกำกับดูแลกิจกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลของธนาคาร นับเป็นการยกเลิกข้อบังคับที่ต้องรายงานล่วงหน้าเปิดทางให้ธนาคารสามารถทดลองหรือร่วมมือกับโครงการสินทรัพย์ดิจิทัลได้คล่องตัวขึ้น ส่งผลให้ธนาคารที่ต้องการสำรวจเทคโนโลยีใหม่ เช่น Tokenized deposits, Stablecoins, หรือ Blockchain-based settlement systems ไม่ต้องกลัวติดเงื่อนไขการแจ้งเตือนที่ยุ่งยาก
ธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลาง หันมาสนใจเข้าร่วมกิจกรรมในโลกคริปโตมากขึ้น เช่น การให้บริการดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบริการแปลงโทเคนดอลลาร์ เช่น บัญชีออมทรัพย์ที่ใช้ stablecoin, การโอนเงินข้ามประเทศแบบ real-time บน blockchain
แม้จะมีข้อดีมากมาย แต่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เช่น หากไม่มีแนวทางกำกับดูแลเฉพาะกิจกรรมคริปโต ธนาคารอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงินจากความผันผวนของสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น