รีเซต

BPP รุกโรงไฟฟ้าก๊าซสหรัฐ ดีลกำลังผลิต900เมกะวัตต์

BPP รุกโรงไฟฟ้าก๊าซสหรัฐ ดีลกำลังผลิต900เมกะวัตต์
ทันหุ้น
18 พฤศจิกายน 2563 ( 08:30 )
61

ทันหุ้น –BPP เล็งซื้อกิจการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐ ขนาดกำลังการผลิต 600-900 เมกะวัตต์ต่อโครงการ คาดได้ข้อสรุปไม่เกินกลางปี 2564 พร้อมติดเครื่อง COD โรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น-เวียดนาม รวม 60 เมกะวัตต์ พร้อมใส่เกียร์ลุยเทรดดิ้งไฟฟ้าต่างแดน ล่าสุด COD โรงไฟฟ้ายามากาตะ ขนาดกำลังการผลิต 20 เมกวัตต์ หนุนผลงานไตรมาส 4/2563 โดดเด่น


ดร.กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า จากการเข้าไปลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาของบริษัทแม่ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ในช่วงเดือนตุลาคม 2563ที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทมองเห็นโอกาสในการเข้าไปลงทุนในธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) ร่วมด้วย โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (Gas) ปัจจัยหลักๆ เพื่อเติมศักยภาพให้กับบริษัทแม่ได้ครบคลุมมากยิ่งขึ้น


*ลุยซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซ


ทั้งนี้ บริษัทมองการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ไม่น้อยกว่า 600-900 เมกะวัตต์ (MW) ต่อโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพหลายราย โดยการลงทุนในครั้งนี้บริษัทจะมุ่งเน้นในรูปแบบของการเข้าซื้อกิจการในโรงไฟฟ้าที่มีการเปิดดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อสร้างการรับรู้รายได้และผลกำไรเข้ามาทันทีหลังการลงทุน เบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปการลงทุนที่ชัดเจนไม่เกินช่วงครึ่งแรกปี 2564 เป็นต้นไป ส่วนมุลค่าการลงทุนนั้นยังไม่สามารถรบุรายละเอียดที่ชัดเจนได้


ขณะเดียวกันบริษัทยังสนใจการลงทุนโรงไฟฟ้าในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก ครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนต่อความต้องการใช้งานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนในตลาดที่มีความเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าและมีนโยบายสนับสนุนรัฐบาล เพื่อให้บรรรลุเป้าหมายกำลังการผลิต 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ตามแผนงานที่วางไว้


นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญในการผลักดันการเติบโตให้กับธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่สัดส่วน 50% อย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนงานระยะยาว บริษัทมุ่งหวังที่จะขยับเข้าไปในเรื่องการผลิตไฟฟ้าเพื่อการซื้อขายในตลาด (เอ็นเนอร์ยี่เทรดดิ้ง) มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเทรนด์ของธุรกิจไฟฟ้าของโลกในอนาคต โดยในปัจจุบันมีตลาดอยู่ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งสร้างความแตกต่างจากเดิมที่เน้นขายสัญญาซื้อขายไฟแบบระยะยาว (PPA) อยู่


*กดปุ่ม COD โปรเจ็กต์ใหม่


สำหรับภาพรวมธุรกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 บริษัทมองว่าผลการดำเนินงานจะยังคงมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และโดดเด่นกว่าเมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) และจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงการใหม่ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุดเริ่ม COD โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม ยามากาตะ ในประเทศญี่ปุ่น ขนาด 20 เมกะวัตต์ และคาดว่าโรงไฟฟ้ายาบูกิ ขนาด 5 เมกะวัตต์ จะสามารถ COD ได้ภายในเดือนธันวาคม 2563


ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง ในสาธารณรัฐจีน ขนาดกำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุน 396 เมกะวัตต์ ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว เหลือเพียงการวางท่อไอน้ำเพื่อเชื่อมเข้าสู่ชุมชนเมือง เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถ จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ภายในช่วงต้นไม่เกินกลางเดือนธันวาคม 2563 เป็นต้น ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่ COD แล้วรวม 22 โครงการที่ 2,328 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตที่มีในมือทั้งหมด 32 โครงการที่ 2,853 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 10 โครงการ ขนาดกำลังผลิตที่ 525 เมกะวัตต์


อย่างไรก็ดี ในปี 2564 บริษัทคาดว่าจะมีาร COD โรงไฟฟ้าจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา ประเทศเวียดนาม เฟส 1 ขนาด 30เมกะวัตต์ ในไตรมาส 1/2563, โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม เคนซึโนวะ และ ชิราคะวะ ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ คาดจะทยอย COD ในไตรมาส 3 และ 4/2564 ตามลำดับ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง