รีเซต

BPPลุ้นQ1-ดีมานด์ไฟพุ่ง ดีลโปรเจ็กต์เติมพอร์ต

BPPลุ้นQ1-ดีมานด์ไฟพุ่ง ดีลโปรเจ็กต์เติมพอร์ต
ทันหุ้น
9 พฤษภาคม 2565 ( 11:31 )
124
BPPลุ้นQ1-ดีมานด์ไฟพุ่ง ดีลโปรเจ็กต์เติมพอร์ต

#BPP #ทันหุ้น - BPP เดินหน้าคว้าโรงไฟฟ้าใหม่เติมพอร์ต ทั้งพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ในประเทศยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั้งในเอเชีย อเมริกา ออสเตรเลีย มองความต้องการพลังงานระยะสั้นเพิ่มสูง และเพิ่มขึ้น 3เท่าในปี 2050 หรือปี 2593 เตรียมแจ้งงบไตรมาส 1/2565 วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 นี้

 

ดร.กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยถึงแผนการลงทุนด้านพลังงานในไตรมาส 2/2565 ว่าบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาโครงการใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นการลงทุนในโรงไฟฟ้าจากพลังงานที่สะอาดขึ้นและพลังงานหมุนเวียนตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ในประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟสูง และมีศักยภาพการเติบโตสูง เช่น กลุ่มประเทศในเอเชีย อเมริกา ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศใน Banpu Ecosystem ที่กลุ่มบ้านปูทำธุรกิจอยู่แล้ว

 

*ดีมานด์ใช้ไฟพุ่ง

 

เบื้องต้นคาดหวังว่าในช่วงที่เหลือของปี 2565 จะได้เห็นดีลใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติม ซึ่งยังคงเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่บริษัทวางเป้าหมายว่าในปีนี้บริษัทยังคงเดินหน้าหากำลังการผลิตไฟฟ้าโครงการใหม่ๆ เข้ามาเติมพอร์ตอีกไม่น้อยกว่า 500-700 เมกะวัตต์ โดยจะมุ่งเน้นลงทุนในโครงการที่มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแล้ว (COD) เป็นหลัก เพื่อให้มีกระแสเงินสดเข้าใน BPP ได้ทันที และเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

 

ภาพรวมอุตสาหกรรมและความต้องการใช้พลังงานนั้น ในระยะสั้นมีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ส่วนในระยะยาวคาดว่าแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปี 2050 (2593) เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าจะถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น (Electrification) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ภาคธุรกิจต่างๆ และภาคประชาชนให้ความสนใจ

 

ทั้งนี้พอร์ตธุรกิจของ BPP มีจุดเด่นด้านความหลากหลายทางภูมิศาสตร์รวมถึงผสมผสานพลังงานจากทั้งเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียน ในประเทศยุทธศาสตร์ต่างๆ ทั้งในเอเชีย อเมริกา ออสเตรเลีย อย่างสมดุล ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการและนโยบายการใช้พลังงานไฟฟ้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

คุมบริหารต้นทุน

 

ส่วนประเด็นราคาค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนทางพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ในการบริหารราคาขายไฟฟ้ากับต้นทุนเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ของบริษัท จะมีวิธีการบริหารจัดการที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เช่น โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีมีสัญญาซื้อขายถ่านหินระยะยาว จึงไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาถ่านหินมากนัก แต่หากราคาเชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มสูงขึ้นอาจสามารถปรับราคาขายไฟฟ้าได้ เนื่องจากอยู่ภายใต้โครงสร้างภาษีของกลไกการส่งผ่านต้นทุน

 

ขณะที่โรงไฟฟ้าเอชพีซี หรือ โรงไฟฟ้าหงสา เป็นโรงไฟฟ้าปากเหมือง จึงมีข้อได้เปรียบในการบริหารจัดการต้นทุนของเชื้อเพลิง ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (CHP) ทั้ง 3 แห่ง ในประเทศจีน มีระบบจัดหาเชื้อเพลิงถ่านหินแบบรวมศูนย์ (Centralized Coal Procurement) และสามารถเจรจาเพื่อการปรับขึ้นของราคาขายไอน้ำ ซึ่งสามารถสะท้อนต้นทุนราคาถ่านหินที่แท้จริงบางส่วน เป็นต้น

 

สำหรับการประกาศงบผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2565 (ม.ค.-มี.ค. 65) คาดว่าจะแจ้งภายหลังจากประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทแล้วเสร็จช่วงเย็น ที่มีกำหนดในวันที่ 10 พฤษภาคม 2565นี้

 

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ประมาณการกำไร BPP ปี 2565 อยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น47.2% จากการรับรู้โครงการใหม่ที่ COD เข้ามาในปี 2564 ได้เต็มปี และการรับรู้โครงการใหม่อีกราว 90 เมกกะวัตต์ที่ทยอยเข้ามาในปี 2565 ประเมินราคาพื้นฐานอยู่ที่ 18 บาทต่อหุ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง