ไขข้อสงสัย "เหรียญ 1 บาท" ชำระหนี้ เกิน 500 บาท ได้หรือไม่?
วันนี้ (17 พ.ค.65) สำนักงานกิจการยุติธรรม ตอบข้อสงสัย กรณี "เหรียญ 1 บาท ชำระหนี้ เกิน 500 บาท ได้หรือไม่?" โดยระบุว่า
"มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน" การเก็บเงิน เก็บหอมรอมริบ เพื่อที่จะซื้อของให้ตัวเองเป็นเรื่องที่ดีนะ ว่าแต่ว่า ถ้าเราใช้แต่ “เหรียญ 1 บาท” อย่างเดียว ในการซื้อของแบบพวกโทรศัพท์มือถือจะทำได้หรือไม่?
คำตอบ คือ "ไม่ได้" เพราะตามกฎหมายได้กำหนดให้เหรียญ 1 บาท ใช้ชำระหนี้ได้ในจำนวนคราวละไม่เกิน 500 บาท ถ้าจะซื้อโทรศัพท์มือถือที่มีราคามากกว่า 500 บาท จึงไม่สามารถใช้เหรียญบาทอย่างเดียวไปซื้อได้นะ
ยังมีเรื่องการชำระหนี้ด้วย "เหรียญกษาปณ์" เราต้องรู้อีกนะ ว่าจะสามารถใช้เหรียญชำระหนี้ได้คราวละไม่เกินเท่าไร?
- เหรียญ 25 หรือ 50 สตางค์ ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 10 บาท
- เหรียญ 1 บาท ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 500 บาท
- เหรียญ 2 บาท ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 500 บาท
- เหรียญ 5 บาท ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 500 บาท
- เหรียญ 10 บาท ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 1,000 บาท
ภาพจาก สำนักงานกิจการยุติธรรม
ทั้งนี้ จุดประสงค์ของการกำหนดจำนวนเหรียญที่ใช้ชำระแต่ละครั้งตามข้างต้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลั่นแกล้งกัน ซึ่งหากมีการใช้เหรียญชำระหนี้ต่างๆ ในจำนวนที่เกินจากที่กฎหมายกำหนด ผู้รับมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย
ในกรณีที่ออมเงินไว้เป็นเงินเหรียญจำนวนมาก สามารถ "ฝากเงิน" ที่ธนาคารต่างๆ ก่อนถอนออกมาชำระหนี้ หรือชำระหนี้กับธนาคารได้โดยตรง โดยอาจมีค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละธนาคาร นอกการฝากเงินด้วยเหรียญ หรือชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ธนาคารแล้ว ยังมีช่องทางของ "กรมธนารักษ์"
https://www.treasury.go.th/th/coin-contact/ หรือโทรศัพท์ติดต่อ : 02-834-8300
ในกรณีที่มีเหรียญจำนวนมาก สามารถติดต่อขอแลกเหรียญได้ที่ สำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือพบธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธรับฝากเหรียญ สามารถสอบถามรายละเอียดและร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทรหมายเลข 1213
อ้างอิง
- พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 (มาตรา 11) https://www.krisdika.go.th
ความรู้เพิ่มเติม
กฎหมายน่ารู้ : https://soundcloud.com
ข้อมูลจาก สำนักงานกิจการยุติธรรม
ภาพจาก TNN ONLINE