รีเซต

นักวิทย์ฯ คิดค้น "ยาอายุวัฒนะ" และทดลองในหนูได้ผลสำเร็จเป็นครั้งแรก

นักวิทย์ฯ คิดค้น "ยาอายุวัฒนะ" และทดลองในหนูได้ผลสำเร็จเป็นครั้งแรก
TNN ช่อง16
8 มีนาคม 2565 ( 17:58 )
322
นักวิทย์ฯ คิดค้น "ยาอายุวัฒนะ" และทดลองในหนูได้ผลสำเร็จเป็นครั้งแรก

เมื่ออายุมากขึ้นโรคเรื้อรังต่างตามมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหลัง, ข้อเข่าเสื่อม, ระบบขับถ่ายผิดปกติ และอื่น ๆ อีกมากมาย มันคงจะดีไม่น้อยหากร่างกายของเราสามารถคืนความอ่อนเยาว์กลับมาอีกครั้ง ล่าสุด ดูเหมือนว่านักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนายาอายุวัฒนะและทดลองสำเร็จในหนูเป็นครั้งแรก




กระบวนการดังกล่าวนี้เรียกว่า Partial reprogramming หรือกระบวนการเปลี่ยนย้อนกลับบางส่วน มีความคล้ายคลึงกับกระบวนการเปลี่ยนย้อนกลับเซลล์โตเต็มวัยให้กลายเป็นสเต็มเซลล์ แต่ Partial reprogramming นี้จะเป็นการเปลี่ยนย้อนกลับจากเซลล์โตเต็มวัย (และเซลล์ที่มีอายุมากขึ้น) ให้กลายเป็นเซลล์ที่อ่อนเยาว์ แต่ไม่ถึงกับกลายเป็นสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด


เบื้องหลังของกระบวนการ Partial reprogramming ขึ้นกับโมเลกุลที่เรียกว่า Yamanaka factors ประกอบด้วยโปรตีน 4 ชนิด ได้แก่ Oct4, Sox2, Klf4 และ c-Myc โปรตีนเหล่านี้ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออกของสารพันธุกรรมในร่างกาย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้นำมาใช้ในกระบวนการเปลี่ยนย้อนกลับให้เซลล์โตเต็มวัยกลายเป็นสเต็มเซลล์ ในเวลาถัดมานักวิทยาศาสตร์จากสถาบันซอล์ก (Salk Institute) จึงประยุกต์ Yamanaka factors นี้สู่กระบวนการ Partial reprogramming

ที่มาของภาพ Unsplash

 


เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของกระบวนการ Partial reprogramming นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งหนูทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้


1. หนูทดลองอายุ 25 เดือน (เทียบเท่ามนุษย์อายุ 80 ปี) ได้รับ Yamanaka factors นาน 1 เดือน


2. หนูทดลองอายุ 15 เดือน (เทียบเท่ามนุษย์อายุ 50 ปี) ได้รับ Yamanaka factors จนถึงอายุ 22 เดือน (เทียบเท่ามนุษย์อายุ 70 ปี)


3. หนูทดลองอายุ 12 เดือน (เทียบเท่ามนุษย์อายุ 35 ปี) ได้รับ Yamanaka factors จนถึงอายุ 22 เดือน (เทียบเท่ามนุษย์อายุ 70 ปี)


หลังจากนั้นจะมีการนำหนูทดลองมาสำรวจการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของร่างกาย โดยมุ่งเน้นที่เซลล์ผิวหนังและเซลล์ไต รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเกิดมะเร็ง หรือการเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือด


ผลปรากฏว่าในหนูทดลองที่ได้รับ Yamanaka factors เพียง 1 เดือน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิวหนังและเซลล์ไต ทว่า ในหนูทดลอง 2 กลุ่มที่ได้รับ Yamanaka factors เป็นระยะเวลานานกว่า มีเซลล์ผิวหนังและเซลล์ไตที่อ่อนกว่าวัยอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งเซลล์เหล่านี้ยังสามารถแบ่งตัวเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ลบเลือนรอยแผลเป็นต่าง ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ที่มาของภาพ Pxhere

 


นอกจากนี้ แม้จะได้รับ Yamanaka factors เป็นระยะเวลานานกว่า 10 เดือน ไม่ได้ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง และไม่พบการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ด้วย เพราะฉะนั้น หมายความว่าหนูทดลองในกลุ่มที่ได้รับ Yamanaka factor นาน 7-10 เดือนนี้ ได้ถูกย้อนเวลาให้เซลล์ผิวหนังและเซลล์ไตมีอายุลดลงเป็นที่เรียบร้อย !!


ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์จะปรับปรุงให้ "ยาอายุวัฒนะ" จาก Yamanaka factors นี้ สามารถออกฤทธิ์ลดอายุเซลล์ทุกชนิดได้ทั่วร่างกาย จากนั้นจึงจะเริ่มนำมาทดลองในมนุษย์ในลำดับถัดไป ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าสักวันหนึ่งโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากความแก่ชราอาจจะได้รับการแก้ไขได้ด้วยยาอายุวัฒนะนี้ในที่สุด


ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง