รีเซต

เหลียวหลังแลหน้า แก้ปัญหาอุทกภัยซ้ำซากจากเนเธอร์แลนด์ ดินแดนจมน้ำ

เหลียวหลังแลหน้า แก้ปัญหาอุทกภัยซ้ำซากจากเนเธอร์แลนด์ ดินแดนจมน้ำ
TNN ช่อง16
28 กันยายน 2565 ( 12:25 )
146
เหลียวหลังแลหน้า แก้ปัญหาอุทกภัยซ้ำซากจากเนเธอร์แลนด์ ดินแดนจมน้ำ

กล่าวกันว่า ชาวเนเธอร์แลนด์พัฒนาทักษะการจัดการน้ำมายาวนานพอ ๆ กับอายุการก่อตั้งประเทศ และในขณะที่ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นจนถึงปัจจุบัน ชาวเนเธอร์แลนด์ยังคงเป็นต้นแบบด้านการจัดการน้ำท่วมมาอย่างต่อเนื่อง


สุภาษิตโบราณของชาวเนเธอร์แลนด์กล่าวไว้ว่า "พระเจ้าสร้างโลก และชาวดัตช์สร้างเนเธอร์แลนด์" และหากพิจารณาแล้ว อาจจะเป็นจริงตามนั้น เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม ที่เกิดจากกระแสน้ำไหลออกของแม่น้ำสายสำคัญสามสาย ได้แก่ แม่น้ำไรน์ แม่น้ำเมิร์ช และแม่น้ำสเกลดท์ โดยประเทศนี้เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มีภูมิทัศน์เป็นที่ราบลุ่มต่ำ หนองน้ำและบึง พื้นที่ 1 ใน 3 ของเนเธอร์แลนด์อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และ 2 ใน 3 เป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม เนเธอร์แลนด์ทวงคืนพื้นที่มาได้จากความสามารถทางวิศวกรรม จนกล่าวกันว่า อัตลักษณ์ร่วมของชาวเนเธอร์แลนด์ คือการร่วมกันต่อต้านสภาวะน้ำท่วมซ้ำซากนั่นเอง


ในช่วงศตวรรษที่ 13 หลังจากน้ำท่วมและมีพายุเกิดขึ้นต่อเนื่องกันหลายสิบปี ประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์เริ่มพัฒนากลยุทธ์และเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับอุทกภัย เริ่มมีการสร้างนวัตกรรมการจัดการน้ำ เช่น กังหันลมแบบโพลเดอร์ ที่ยังเห็นเป็นภาพจำของเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน กังหันลมเหล่านี้ช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่แอ่งน้ำ ซึ่งมักจะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เมื่อเวลาผ่านไป อ่างเก็บน้ำประมาณ 3,000 แห่งหรือเขตแห้งที่ล้อมรอบด้วยเขื่อนกั้นน้ำก็ถูกสร้างขึ้น


ที่มาของรูปภาพ Reuters


ตั้งแต่นั้นมา ชาวเนเธอร์แลนด์เริ่มมีชื่อเสียงในด้านความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชายฝั่งและการจัดการน้ำมายาวนานหลายร้อยปี แต่ต้นปี 1953 เมื่อแนวป้องกันทะเลเหนือแตก น้ำท่วมพื้นที่กว่า 937,500 ไร่ และคร่าชีวิตผู้คนไป 1,835 คนในชั่วข้ามคืน น้ำท่วมใหญ่นี้รู้จักกันในชื่อ '1953 North Sea Flood' วิกฤตที่ทำให้ความรู้สึกปลอดภัยของชาวเนเธอร์แลนด์พังทลาย 


 ชาวเนเธอร์แลนด์มีฉันทมติว่า จะยกระดับการต่อสู้กับน้ำท่วมไปอีก 1 เท่าตัว หลังจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนั้นบรรเทาลงเพียง 20 วัน คณะกรรมการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ก็ถูกก่อตั้งขึ้น พวกเขาตัดสินใจดำเนินการแผนการ "เดลตาแพลน" แผนการจัดการน้ำดั้งเดิม ผนวกกับแผนการเพิ่มเติมที่มีมาตรการรองรับครอบคลุมยิ่งขึ้นกลายเป็นโครงการระดับเมกะโปรเจกต์ในชื่อ "โครงการเดลตาเวิร์ก" (Delta Works)


เมกะโปรเจกต์จัดการอุทกภัย


"เดลตา เวิร์ก" โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและควบคุมผลกระทบจากอุทกภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเดลตา เวิร์ก ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมสมัยใหม่ ถูกสร้างขึ้นระหว่างช่วงปลายทศวรรษ 1950 จนถึงช่วงปี 1990 


เดลตา เวิร์ก ประกอบไปด้วยเขื่อน 9 แห่งและแนวกั้นพายุ 4 แห่ง ที่ปิดปากแม่น้ำและกินแนวชายฝั่งของเนเธอร์แลนด์ราว 700 กิโลเมตร และประกอบด้วยโครงการย่อยมากมายทั้งสิ้นถึง 16 โครงการ มีทั้งโครงการที่เป็นพนังกั้นน้ำ, ประตูระบายน้ำ, กำแพงกันคลื่น, เขื่อน โดยส่วนที่เป็นเขื่อนจะทำหน้าที่กั้นน้ำทะเลและแม่น้ำให้แยกออกจากกัน การทำเช่นนั้นส่งผลดีทำให้ตัวชายฝั่งรับน้ำถูกเลื่อนให้อยู่ไกลจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยของประชาชนไปยังทางตะวันตกของประเทศ ลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น


ที่มาของรูปภาพ TomTom.com


เดลตา เวิร์ก ทำหน้าที่เป็นป้อมปราการป้องกันน้ำมาต่อเนื่องหลายทศวรรษ มีการใช้งบประมาณมหาศาลมาใช้อย่างเหมาะสม โดยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันประเทศจากภัยพิบัติ ที่เห็นว่าสามารถเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ปี 


มูลค่ารวมตอนก่อสร้างเสร็จของเดลตา เวิร์ก อยู่ที่ราว 240,000 ล้านบาท ซึ่งจุดเด่นก็คือ มวลน้ำด้านในเขื่อนยังเป็นน้ำที่สะอาด ประชาชนสามารถนำน้ำจืดไปใช้ประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อีกด้วย เนื่องจากการกั้นน้ำจืดและน้ำเค็มด้วยตัวโครงสร้างที่สร้างขึ้น ประชาชนจึงสามารถนำน้ำจืดไปใช้ทางการเกษตรได้ด้วยส่วนปริมาณน้ำจืดที่เพิ่มขึ้นมาเกินความจำเป็นก็สามารถถูกผันไปใช้ยังพื้นที่ที่มีความต้องการทางตอนเหนือของประเทศได้อย่างง่ายดายเพราะมีระบบคอยจัดการ ขณะที่การบริหารจัดการน้ำดีและน้ำเสียทั้งประเทศก็ยังสามารถควบคุมได้ง่ายจากระบบของเดลตา เวิร์ก อีกด้วย


เดลตา เวิร์ก ยังมีโครงสร้างแบบยืดหยุ่น โดยส่วนที่เป็นประตูระบายน้ำ จะทำงานอย่างมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์โดยการปิดประตูระบายน้ำเป็นบางครั้งเท่านั้น คือจะปิดเฉพาะช่วงเวลาที่มีคลื่นลมแรงซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำทะลักเข้าสู่บริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชน ไม่ได้เป็นการปิดกั้นน้ำทะเลจากการไหลสู่แม่น้ำด้านในอย่างถาวร ทำให้นอกจากประชาชนยังใช้ตัวเขื่อนในการสัญจร และชาวประมงก็ยังเดินทางได้ตามปกติ




อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็เกิดเหตุน้ำท่วมรุนแรงในช่วงทศวรรษ 1990 ทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่และทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ผู้จัดการน้ำชาวเนเธอร์แลนด์มองเห็นข้อจำกัดของแนวทางวิศวกรรมแบบโครงสร้างแข็ง (Hard Engineer) เช่น เขื่อนกั้นน้ำและแนวกั้นในสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดเดาไม่ได้มากขึ้น ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกใช้แนวทางใหม่อย่างจริงจัง


วิศวกรรมแบบยืดหยุ่น ลดน้ำท่วมด้วยความยั่งยืน


เนเธอร์แลนด์เริ่มจะนำเอามาตรฐานวิศวกรรมแบบใหม่มาใช้ เริ่มจากมาตรการป้องกันน้ำท่วมแบบใหม่ที่ยั่งยืนกว่าเดิม คือหลักวิศวกรรมแบบยืดหยุ่น (Soft Engineer) ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องพื้นที่ทางตะวันตกที่เป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีประชากรหนาแน่น นอกเหนือจากการสร้างกำแพงและเขื่อนเพิ่มเติม ในปี 2006 เนเธอร์แลนด์ยังเริ่มใช้การจัดการอุทกภัยแบบระยะยาวมากขึ้น ซึ่งรวมเอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงมาช่วย โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า Room for the River ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.31 แสนล้านบาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ประมาณ 40 โครงการตามแนวแม่น้ำและทางน้ำของเนเธอร์แลนด์ 


ที่มาของรูปภาพ Dutch Water Sector


หัวใจของโครงการคือ แทนที่จะเก็บน้ำไว้ในอ่าว โครงการนี้จะช่วยให้สามารถจัดสรรพื้นที่เพื่อรองรับน้ำท่วมได้อย่างปลอดภัย หรือการสร้างพื้นที่แก้มลิงนั่นเอง เขื่อนและสิ่งกีดขวางอื่น ๆ จะถูกปลดประจำการ เพื่อให้ช่องทางน้ำท่วมและที่ราบน้ำท่วมถึงขยายและลึกขึ้น ตัวอย่างเช่นในเมืองนอร์ดวอร์ด (Noordwaard) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเนเธอร์แลนด์ มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ให้เป็นแก้มลิงสำหรับเก็บน้ำท่วม และส่วนของเมืองนิเมเกน (Nijmegen) เมืองโบราณอายุ 2,000 ปี มีการทุบทำลายเขื่อน และขุดร่องระบายแม่น้ำวาล (Waal) 


ว่ากันว่า โครงการควบคุมอุทกภัยในเมืองนิเมเกนนั้นมีความก้าวหน้าอย่างมาก และโครงการนี้ยังช่วยสร้างระบบการฟื้นฟูเมือง เช่น การเพิ่มสวนสาธารณะบนเกาะภายในพื้นที่เมือง ทั้งยังมีการสร้างพื้นที่เดินเล่นริมแม่น้ำ เมืองถูกปรับปรุง และสิ่งอำนวยความสะดวกถูกสร้างขึ้นโดยการสนับสนุนจากท้องถิ่น


อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วโครงการเหล่านี้มักมีค่าใช้จ่ายสูง เช่นโครงการในนิเมเกนมีมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ (1.89 หมื่นล้านบาท) และผู้คนต้องอพยพจากบ้านในเขตน้ำท่วม และที่ดินเกษตรกรรมดั้งเดิมต้องถูกปล่อยร้าง ในทางกลับกัน พื้นที่น้ำท่วมธรรมชาติถูกปรับเพื่อใช้เป็นแก้มลิงช่วงน้ำท่วม ในช่วงเวลาที่เหลือ พื้นที่เหล่านี้สามารถใช้เพื่อการพักผ่อน ทั้งยังถูกปรับให้กลับสู่สภาพธรรมชาติได้ แนวทางสำหรับปัญหาด้านวิศวกรรมน้ำเช่นนี้ ได้รับความสนใจจากนักออกแบบ นักวางแผนผังเมือง และสถาปนิกทั่วโลก


นอกจากนี้ยังมีโครงการทดลองหนึ่งโครงการในเนเธอร์แลนด์ คือ Zandmotor หรือ Sand Engine ซึ่งเป็นคาบสมุทรทรายรูปตะขอยาว 1 กิโลเมตร ซึ่งสร้างขึ้นในปี 2011 ตามแนวชายฝั่งที่ Ter Heijde ในภาคใต้ของเนเธอร์แลนด์ 


ที่มาของรูปภาพ NPR


ปฏิบัติการเริ่มต้นจากเรือขุดรวบรวมทราย 21.5 ล้านลูกบาศก์เมตร จากบริเวณนอกชายฝั่งออกไปราว 10 กิโลเมตร แล้วนำไปถมในพื้นที่ที่ออกแบบไว้ เมื่อเวลาผ่านไป คลื่นและกระแสน้ำค่อยๆ กระจายตัวทรายและเติมเต็มชายหาดใกล้เคียงตามธรรมชาติ การทดลองง่าย ๆ ตามแนวคิดนี้ หรือที่เรียกว่าการทำแซนด์สเคป (Sandscape) ทำขึ้นเพื่อป้องกันการพังทลายของชายหาดอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดมากขึ้น รวมทั้งไม่ก่อกวนชายหาดและระบบนิเวศ มากกว่าวิธีการแบบดั้งเดิม เช่น การเติมทรายเข้าไปตามปกติ 


สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้โจทย์ยากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากการใช้งานเดลตา เวิร์กมาหลายทศวรรษ และแม้จะปรับไปใช้วิศวกรรมแบบยืดหยุ่น แต่ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรง ก็เริ่มเข้ามาคุกคาม การกำหนดแผนการจัดการเมืองในประเทศที่กำลังจมน้ำ เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้งานยากยิ่งขึ้นไปอีก รายงานพิเศษฉบับล่าสุดที่ออกโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า ไม่ว่าจะลดการปล่อยภาวะโลกร้อนหรือไม่ก็ตาม เหตุการณ์ระดับน้ำทะเลที่รุนแรงจะเกิดบ่อยขึ้นภายในปี 2050

 

รายงานเตือนว่าภายในปี 2100 ภายใต้สถานการณ์การปล่อยมลพิษสูง ณ ปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 เมตรในพื้นที่เสี่ยง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการละลายของน้ำแข็งกลายเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของน้ำท่วมและการกัดเซาะ รวมทั้งขัดขวางการเข้าถึงน้ำสะอาดในทั่วโลก


ที่มาของรูปภาพ Reuters


นักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) และสถาบันวิจัยอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ประกาศข้อมูลประมาณการระดับสูงของระดับน้ำทะเลทั่วโลกใหม่ โดยระบุว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ คาดว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มเป็น 2.5 เมตร นอกจากนั้นยังจะมีการละลายของแผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งบนบกในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาในระดับมหาศาล 


มีการคาดเดาว่า เดลตา เวิร์ก พร้อมที่จะทนต่อการโจมตีของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใน 200 ปีจากนี้ หากระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น 5 มิลลิเมตรต่อปี แต่สมมุติฐานดังกล่าว อาจใช้ไม่ได้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่ผันผวนอย่างหนัก ด้วยประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ทั้งเหตุการณ์สภาพอากาศแปรปรวนสุดขั้วที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

 

สภาวะ "น้ำท่วมปาก" ในการจัดการน้ำ

 

ศาลฎีกาแห่งเนเธอร์แลนด์ได้สั่งให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 25% เมื่อเทียบกับระดับก๊าซในปี 1990 คำตัดสินครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการฟ้องร้องของกลุ่มพลเมืองดัตช์ ร่วมกับมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมเออร์เจนดา (Urgenda) ในปี 2013 ซึ่งพวกเขาประณามการปล่อยมลพิษที่สูงของประเทศและการไม่ดำเนินการของรัฐบาล ซึ่งพวกเขาตั้งธงว่า รัฐบาลล้มเหลวในหน้าที่ในการปกป้องพลเมืองชาวเนเธอร์แลนด์จากอันตรายด้านภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 


คดีนี้เน้นย้ำประเด็นที่เกี่ยวกับภาระผูกพันของรัฐในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่พุ่งทะลุเกินกว่าขีดจำกัดที่กำหนดไว้แล้วในนโยบายสภาพภูมิอากาศของเนเธอร์แลนด์ ตามที่มูลนิธิเออร์เจนดาชี้ว่า บทความ 2 และ 8 ของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ และในประมวลกฎหมายแพ่งของเนเธอร์แลนด์ ระบุยืนยันว่า รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎระเบียบดังกล่าว แม้ว่าศาลชั้นต้นในกรุงเฮกจะเพิกเฉยต่อการกล่าวอ้างถึงอนุสัญญาในกรณีเฉพาะเหล่านี้ แต่ก็ยังคงตัดสินว่ารัฐละเมิดหน้าที่ที่จะใช้มาตรการป้องกันและบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์ที่เข้าข่ายเป็นอันตราย 

 

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2018 เมื่อศาลประกาศว่ารัฐบาล "ดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย" โดยไม่ใช้มาตรการที่เข้มงวดกว่าในการลดการปล่อยมลพิษ คำตัดสินของศาลฎีกาบังคับให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ดำเนินมาตรการที่เข้มงวดยิ่งขึ้น แม้ว่าจะได้ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยมลพิษแล้วก็ตาม มาตรการเหล่านี้ทำให้เนเธอร์แลนด์ต้องเริ่มปิดโรงไฟฟ้าบางส่วน และแม้จะมีการวางมาตรการหลายอย่างแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ


ขณะที่สำนักงานประเมินสิ่งแวดล้อมและนักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์มาตรวิทยาและภูมิสารสนเทศ (NCG) ในเนเธอร์แลนด์ ประเมินว่า ดินจะจมลงมากกว่า 50 เซนติเมตร ในอีก 50 ปีข้างหน้า อุณหภูมิที่สูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส ประกอบกับฤดูร้อนที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ได้ลดระดับน้ำใต้ดินโดยการระบายดินและเร่งการจมของดิน ทำให้เกิดรอยแตกขนาดใหญ่ในบ้านบางหลัง


ที่มาของรูปภาพ Reuters


โจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลกต้องช่วยกันแก้


สำหรับตอนนี้ โจทย์ปัญหาด้านการจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ จึงทวีคูณความยากเพิ่มเป็น 2 เท่า เพราะรัฐบาลก็ยังดำเนินการปรับโครงสร้างพื้นฐานต่อไป เมื่อเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในทางกลับกัน สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและข้อกฎหมายก็บีบบังคับ เพราะในขณะนี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ดูคล้ายว่า จะล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายการใข้งานแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้ถึง 14% ตามที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ และยังไม่สามารถบรรลุการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 25% 


เนเธอร์แลนด์กำลังเผชิญกับปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และถูกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคุกคามอย่างหนัก และวิธีเดียวที่จะบรรลุการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง คือการผนึกกำลังเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากรากเหง้า ซึ่งหมายถึงการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ซึ่งจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันของทุกรัฐบาล เพื่อควบคุมการใช้พลังงาน การขนส่ง และการปรับโครงสร้างในรูปแบบของการผลิตและการบริโภคอาหาร ขณะที่วัฒนธรรมของเนเธอร์แลนด์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการจัดการน้ำและมาตรการควบคุมอุทกภัย ก็ยังคงมีประโยชน์ และเป็นต้นแบบในด้านโครงสร้างพื้นฐานในการบรรเทาสาธารณภัย 


การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังต้องพิจารณาทั้งการเยียวยา และการปรับตัวของคนหมู่มาก รวมถึงการดำเนินการอย่างจริงจังในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญกับการเยียวยาเพียงอย่างเดียวก็ไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน เพราะเมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จะมีความจำเป็นมากขึ้นในการระดมทรัพยากรมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการจัดเก็บภาษีจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพื่อยกระดับการป้องกัน และนำไปใช้ในการเยียวยา และหากน้ำท่วมหนักขึ้นเรื่อย ๆ เม็ดเงินเยียวยาจำนวนมหาศาลก็คงไม่เพียงพอ 


และแม้จะมีโครงการเมกะโปรเจกต์ เช่น เดลตาเวิร์ก เกิดขึ้นมาใหม่อีกเรื่อย ๆ แต่ความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ก็ยังคงคืบคลานเข้ามาเป็นเงาตามตัว การจัดการในฐานะรัฐเดี่ยวก็ไม่เพียงพออีกต่อไป ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทั่วโลก ที่จะต้องร่วมมือกันบริหารจัดการสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงขั้นวิกฤต ที่หายใจรดต้นคอคนทั้งโลกอยู่ 


ที่มาของข้อมูล thoughtco.com, earthmagazine.org, esthinktank.com

ที่มาของรูปภาพ Reuters, TomTom, NPR, dutchwatersector, rijkwaterstaat

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง