รีเซต

วันพืชมงคล 2568 เปิดความหมายการเสี่ยงทาย-คำพยากรณ์ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

วันพืชมงคล 2568 เปิดความหมายการเสี่ยงทาย-คำพยากรณ์ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
TNN ช่อง16
7 พฤษภาคม 2568 ( 10:13 )
16

วันพืชมงคล 2568 การเตรียมจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ว่า ในปีนี้ได้กำหนดวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ โดยจะประกอบพระราชพิธี ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม 2568 และถือเป็นวันเกษตรกรด้วย 

สำหรับในวันถัดมาของการประกอบพระราชพิธีคือ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์จะประกอบพระราชพิธีในวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือเป็นพระราชพิธีซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริมบำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก โดยกำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ให้จัดขึ้นในเวลานั้นอันถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นฤดูกาลแห่งการทำนา

ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา เทพีคู่หาบทอง  พระโคแรกนา

ในปี 2568 นี้ ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร 

เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวฉันทิสา อารีเสวต นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และนางสาวอภิชญา ฟูแสง นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ 

ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย คู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย 

พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง พระโคสำรอง ได้แก่ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชนรับชมและรับฟังการถ่ายทอดสดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 ในวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ผ่านช่องทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสื่อโซเชียลมีเดีย 

การเสี่ยงทายและคำพยากรณ์

การตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกาย (การเสี่ยงทายผ้านุ่ง)  

“ผ้านุ่งแต่งกาย” คือ ผ้านุ่งซึ่งเป็นผ้าลาย มีด้วยกัน ๓ ผืน คือ สี่คืบ ห้าคืบ และหกคืบวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบ หากหยิบได้ผ้าผืนใด ให้นุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งผืนเดิมอีกชั้นหนึ่งเพื่อเตรียมออกแรกนา โดยผ้านุ่งนี้ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ

หยิบได้ผ้า 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

หยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผล บริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

หยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

การเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง         

“ของกิน 7 สิ่ง” ที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้น มี ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ

พระโคกิน ข้าว หรือ ข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี

พระโคกิน ถั่ว หรือ งา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

พระโคกิน น้ำ หรือ หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์

พระโคกิน เหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง


ข้อมูลจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง