รีเซต

‘พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ’ ปี 67 เปิดรายละเอียดวันทำพิธี และประวัติความเป็นมา

‘พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ’ ปี 67 เปิดรายละเอียดวันทำพิธี และประวัติความเป็นมา
TNN ช่อง16
17 เมษายน 2567 ( 15:37 )
82
‘พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ’ ปี 67 เปิดรายละเอียดวันทำพิธี และประวัติความเป็นมา

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2567 จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย กำหนดจัดขึ้นในเดือนหก หรือ เดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้น   การทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ก็ให้จัดขึ้นในวันนั้น 


ในปี พ.ศ. 2567 นี้ ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันประกอบพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง 


สำหรับในวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เป็นวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง


พระยาแรกนา -  เทพีทั้งหาบทองและหาบเงิน ประจำปี 2567 คือใคร? 


ในแต่ละปีได้มีการกำหนดว่า ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปี พ.ศ. 2567 นี้ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา และผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีทั้งหาบทองและหาบเงินนั้น จะมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกเทพีในแต่ละปี ซึ่งจะดูที่ความเหมาะสมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่เป็นทางการ คือ พิจารณาคัดเลือกจากบรรดาข้าราชการหญิงโสดเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้วที่ไม่เป็นทางการ คือ อายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะหรือสูงใกล้เคียงกัน 


สำหรับในปีนี้ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวปนัดดา เปี่ยมมอญ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวภัทรปภา มินรินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร


เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวธิรดา วงษ์กุดเลาะ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาววราภรณ์ วิลัยมาตย์ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน กรมวิชาการเกษตร


พระโค ‘พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ’ ประจำปี 2567 


ในปีนี้ กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโค เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 2 คู่ เป็นพระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ คือ พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 12 ปี พระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 239 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 210 เซนติเมตร อายุ 12 ปี 


พระโคสำรอง 1 คู่ คือ พระโคเพิ่ม และพระโคพูล ซึ่งเป็นพระโคพันธุ์ขาวลำพูน มีสีผิวขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำ หรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว ลำตัวเป็นลำเทียน เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู  บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า


สำหรับพระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธี ฯ นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งได้ดำเนินการคัดเลือกพระโคตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า  150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180  เซนติเมตร    


โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้ายเขาลักษณะ   โค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม



สำหรับพระโค นายสมชาย ดำทะมิส ได้บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคพอ และนายอาคม วัฒนากูล บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพียง มอบให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ใช้เป็นพระโคแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2567    
   


พันธุ์ข้าวที่ใช้ในการประกอบ ‘พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ’


ในปี พ.ศ. 2567 นี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธี น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,743 กิโลกรัม ประกอบด้วย พันธุ์ข้าวนาสวน จำนวน 6 พันธุ์ ได้แก่ 


 - ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าที่ทนแล้งได้ดีพอสมควร เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี คุณภาพการหุงต้มดี อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม ทนต่อสภาพดินเปรี้ยว และดินเค็ม จำนวน 903 กิโลกรัม 

- กข 43 เป็นข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสง คุณภาพของเมล็ดทางการหุงต้มรับประทาน ดี ข้าวสุกนุ่ม มีกลิ่นหอมอ่อน ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จำนวน 300 กิโลกรัม 

- กข 81 เป็นข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสง เมล็ดขนาดปานกลาง มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับแปรรูปเป็นข้าวพองอบกรอบ จำนวน 200 กิโลกรัม 

- กข 85  เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปี และนาปรัง ทนต่อสภาพอากาศเย็น คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อย จำนวน 200 กิโลกรัม 

- กข 87 เป็นพันธุ์ข้าวพื้นนุ่ม ลักษณะเด่นพิเศษ ข้าวสุกนุ่ม ค่อนข้างเหนียว คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 300 กิโลกรัม 

- กข 95 เป็นข้าวเจ้า คุณภาพการสีดีมาก ท้องไข่น้อย ต้านทานต่อโรคไหม้ และค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เหมาะสำหรับพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง จำนวน 200 กิโลกรัม 


พันธุ์ข้าวเหนียว จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ กข 6 ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ โดย  การใช้รังสีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ นับว่าเป็นข้าวพันธุ์ดีพันธุ์แรกของประเทศไทย ที่ค้นคว้าได้โดยใช้วิธีชักนำพันธุ์พืช ให้เปลี่ยนกรรมพันธุ์โดยใช้รังสี ให้ผลผลิตสูงและทนแล้ง คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม จำนวน 540 กิโลกรัม และสันป่าตอง 1 เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง คุณภาพข้าวสุก เหนียวนุ่ม ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ให้ผลผลิตสูง สามารถปลูกได้ตลอดปี จำนวน 100 กิโลกรัม 

พันธุ์ข้าวดังกล่าว ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่าง ๆ สำหรับใช้แจกจ่ายแก่เกษตรกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคล
ในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ และเมล็ดพันธุ์ที่เหลือทั้งหมด กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรม ราชานุญาตนำไปปลูกไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลปี พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถขอรับเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ https://rice.moac.go.th/   หรือสแกนคิวอาร์โค้ด โดยเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 


ความหมายจากการเสี่ยงทาย  ‘พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ’ ประจำปี 2567 


สำหรับการเสี่ยงทายในพระราชพิธี ฯ จะมีการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ของประเทศ ซึ่งแต่ละปีนั้น ประกอบด้วย 2 ช่วง คือ ช่วงแรก พระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายผ้านุ่ง  แต่งกาย ซึ่งแต่ละผืนล้วนมีความหมายแตกต่างกันออกไป เป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ 6 คืบ 5 คืบ และ 4 คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้ พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดนั้นจะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ 


- ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่ม อาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ 

- ถ้าหยิบได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี 

- ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ 


ส่วนช่วงที่ 2 คือ ภายหลังจากการไถหว่านซึ่งจะเป็นการไถดะไปโดยรี 3 รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน ไถโดยขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียดพร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์พืชลงในดิน 


 เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถแล้วจะเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำและหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ ดังนี้ ถ้าพระโค



- กินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี 

- กินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี 

- กินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี 

- กินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขาย กับต่างประเทศดีขึ้นทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง


ประวัติพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ


นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมา งานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงได้เริ่มมีขึ้น   ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”


 การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2479 แล้วว่างเว้นไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชพิธีอันดีงามมีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของเกษตรกรไทย


ทั้งนี้พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พิธีไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง


ข้อมูลจาก: ทำเนียบรัฐบาล 

ภาพจาก: กระทรวงเกษตร และสหกรณ์   

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง