รีเซต

ไขข้อสงสัย! เนื้อวัว-นมวัวกินได้หรือไม่ หลังมีข่าวลือ ทำให้เลือดเป็นกรด-กระตุ้นเชื้อโควิด

ไขข้อสงสัย! เนื้อวัว-นมวัวกินได้หรือไม่  หลังมีข่าวลือ ทำให้เลือดเป็นกรด-กระตุ้นเชื้อโควิด
TNN ช่อง16
20 สิงหาคม 2564 ( 17:18 )
53
ไขข้อสงสัย! เนื้อวัว-นมวัวกินได้หรือไม่  หลังมีข่าวลือ ทำให้เลือดเป็นกรด-กระตุ้นเชื้อโควิด

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพเรื่อง ถ้าหากกินเนื้อวัวหรือนมวัวเป็นประจำ จะทำให้เลือดในร่างกายมนุษย์เป็นกรด     และช่วยให้เชื้อไวรัสโควิด-19 เจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีนั้น เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งความเป็นจริงแล้ว  ความเป็นกรดด่างของเลือด ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงง่ายนักหรือเกิดจากการกินอาหารเพียงอย่างเดียว เนื่องจากระบบการทำงานของร่างกายจะมีกลไกการควบคุมอวัยวะให้ทำงานตามปกติ ผู้บริโภคยังคงกินเนื้อวัวและนมวัวได้ แต่ต้องรู้จักสังเกตวิธีการเลือกซื้อเนื้อวัวที่สด สะอาด มีลักษณะสีแดงสด เนื้อแน่น ลายเส้นไม่หยาบ โดยให้ใช้นิ้วกดดู เนื้อจะยืดหยุ่น         ไม่มีรอยบุ๋ม รวมทั้งต้องไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู เพราะเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด 



สำหรับเนื้อสัน ควรมีสีแดงสดและมีมันปรากฏอยู่เป็นจุดเล็ก ๆ ลักษณะของไขมันแตกง่ายกลิ่นของเนื้อวัวจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากเนื้อหมู       ไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว ไม่มีเมือก เมื่อวางไว้จะมีน้ำสีแดงออกมา เพื่อความปลอดภัยควรเลือกซื้อจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ หรือสังเกตจากตราประทับบนหนังสัตว์ที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจาก     กรมปศุสัตว์ หรือร้านที่มีใบรับรองของฮาลาล และขณะเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้สวมถุงมือหรือใช้ที่คีบหยิบจับทุกครั้ง เพื่อไม่ให้มือสัมผัสกับเนื้อสัตว์โดยตรง






“สำหรับการเลือกซื้อนมและผลิตภัณฑ์นมควรสังเกตวันหมดอายุ มีเครื่องหมาย อย.รับรองอย่างถูกต้อง      และอ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์ว่ามีน้ำนมโคสดแท้กี่เปอร์เซ็นต์ โดยให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำนมโคสดแท้ที่เปอร์เซ็นต์สูง        จะได้รับสารอาหารจากนมมากกว่า ภาชนะบรรจุต้องมีสภาพไม่รั่ว ไม่ซึม ไม่บวม ไม่ฉีกขาด เลี่ยงการซื้อนมจากร้านค้า   ที่จำหน่ายแบบไม่เหมาะสม หรือเก็บในตู้แช่ หรือสถานที่เก็บที่ไม่ได้มาตรฐานเพราะอาจทำให้นมบูดได้ง่าย 



ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อความปลอดภัย อาหารที่ปรุงประกอบจากเนื้อวัวควรปรุงสุกร้อน     

เช่น อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป แต่หากกินไม่หมด ควรอุ่นร้อนเป็นระยะ ๆ และกินอาหารให้ครบ    5 หมู่ และหลากหลาย มีปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เพียงพอ นอกจากนี้       ควรจัดการสุขอนามัยส่วนบุคคลให้สะอาดอยู่เสมอ หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยส่งเสริมให้ร่างกายมีภูมิต้านทานการต่อสู้เชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้”           อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง