รู้จัก “ไซทิซีน” ยาเลิกบุหรี่ของไทย และยาเลิกบุหรี่ชนิดอื่น ที่นักสูบห้ามพลาด!
เนื่องในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งการสูบบุหรี่ทุกชนิดทำให้ปอดอักเสบรุนแรงและเป็นสาเหตุหลักที่ทำลายปอดและเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ได้อีกด้วย โดยควันบุหรี่ชนิดต่างๆ หากคนสูบบุหรี่ติดโควิด-19 จะส่งผลให้อาการทรุดหนักกว่าคนทั่วไปหลายเท่า
ล่าสุดประเทศไทยได้ผลิตยาเลิกบุหรี่สำเร็จเป็นครั้งแรก จากหน่วยงานสสส. ผนึกรวมกับ มศว-ศจย.-อภ เพื่อเป็นความหวังช่วยนักสูบไทยที่อยากเลิกบุหรี่ในยุคนี้ โดยจะจ่อขึ้นทะเบียนยาเลิกบุหรี่ เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่ราคาถูก ปลอดภัย ประสิทธิภาพดี เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงอีกหนึ่งวิธีช่วยเลิกบุหรี่ด้วยยาได้ ซึ่งยาตัวนี้มีชื่อว่า “ไซทิซีน”
วันนี้ TrueID จะพามารู้จักยาเลิกบุหรี่ “ไซทิซีน” และยาเลิกบุหรี่ชนิดอื่นๆ สำหรับนักสูบที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ด้วยยา จะมีอะไรบ้างไปดูกัน
“ไซทิซีน” ยาเลิกบุหรี่ครั้งแรกของไทย
“ไซทิซีน” (Cytisine) ซึ่งเป็นสารสกัดธรรมชาติจาก “เมล็ดจามจุรีสีทอง” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการถอนนิโคติน ทำให้ผ่อนคลายไม่หงุดหงิดในขณะที่เข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ ซึ่งยาชนิดนี้ใช้มานานกว่า 60 ปีในยุโรปตะวันออก ถือเป็นยาเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพดีและปลอดภัยมาก จึงเป็นยาที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองและสนับสนุนให้รัฐบาลทุกประเทศจัดหาไว้เพื่อช่วยให้ประชาชนของตนเข้าถึงยาเลิกบุหรี่ที่ราคาถูกได้ง่ายขึ้น
วิธีใช้ยา
ยามีตัวยาขนาด 1.5 มิลลิกรัม/เม็ด โดยในช่วง 3 วันแรก จะต้องกิน 6 เม็ด/วัน จากนั้นลดขนาดลงเรื่อยๆ เหลือ 5 เม็ด/วัน จากนั้น 4 เม็ด/วัน และ 2 เม็ด/วันไปจนครบ 25 วัน
โดยขณะนี้มีงานวิจัยในต่างประเทศที่พยายามหาวิธีการกินยาชนิดนี้ที่ง่ายขึ้น โดยพบว่าอาจกินแค่ครั้ง 2 เม็ด วันละ 3 เวลา ตลอด 25 วันไปเลยก็ได้ผลไม่ต่างกัน
มีขายหรือยัง?
งานวิจัยของประเทศไทยอยู่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างที่เข้ารับบริการเลิกบุหรี่ด้วยยาชนิดนี้ 500 คน เทียบกับอีกกลุ่มที่ใช้ยาชนิดอื่นอีก 500 คน โดยจะวิเคราะห์ข้อมูลแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ เมื่อได้ผลการวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว อภ.จะทำการขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) จากนั้นจะผลักดันยานี้ให้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป
สำหรับประเทศไทย ยังไม่มียาชนิดนี้อยู่ในระบบบัญชียาของประเทศ จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐของประเทศไทยต้องรีบดำเนินการผลักดันยานี้เข้าสู่ระบบบัญชียาโดยเร็ว เพื่อให้ยานี้เป็นสมบัติของคนไทยทุกคนต่อไป การมียาเลิกบุหรี่คุณภาพดีและราคาถูก ผลิตได้เองโดยภาครัฐ จึงนับเป็นก้าวย่างสำคัญของบริการเลิกบุหรี่ในประเทศไทยที่จะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นและหลีกหนีจากผลิตภัณฑ์ยาสูบได้อย่างถาวรยิ่งขึ้น
รวมยาเลิกบุหรี่ที่นักสูบอยากเลิกต้องรู้
1.สารนิโคตินทดแทน (NRT)
สารนิโคตินทดแทน (Nicotine Replacement Therapy : NRT) ผลิตจากใบยาสูบนำมาสกัดเป็นยาในรูปแบบต่างๆ องค์การอาหารและของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้รับรองยาที่ใช้ในการเลิกสูบบุหรี่โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์มาแล้ว 5 ประเภท ซึ่งเป็นการเลิกบุหรี่โดยการให้สารนิโคตินทดแทน (NRT) ส่วนในประเทศไทยมีใช้อยู่ 2 แบบ คือ หมากฝรั่งนิโคตินและแผ่นแปะผิวหนัง ทั้งสองอย่างนี้เป็นยาทางเลือกที่นิยมใช้มากที่สุดและหาได้ตามร้านขายยาทั่วไป
หมากฝรั่งนิโคติน
มีสองขนาด คือ 2 มิลลิกรัมและ 4 มิลลิกรัม ขณะเคี้ยวหมากฝรั่ง นิโคตินจะถูกดูดซึมผ่านกระพุ้งแก้ม ผู้ที่จะเลิกบุหรี่จะต้องเคี้ยวหมากฝรั่งอย่างน้อย 10 ชิ้นต่อวัน แม้ว่าจะไม่อยากบุหรี่ก็ตามเพื่อให้ได้สารนิโคตินทดแทนประมาณครึ่งหนึ่งของที่ได้จากการสูบบุหรี่
แผ่นแปะนิโคติน
ในประเทศไทยที่มีใช้อยู่มี 3 ขนาดคือ 10 มิลลิกรัม 20 มิลลิกรัม และ 30 มิลลิกรัม เมื่อแปะแผ่นแปะนิโคตินจะถูกดูดซึมทางผิวหนัง โดยแผ่นแปะจะมีข้อได้เปรียบกว่าหมากฝรั่งคือ ใช้ง่าย และผลข้างเคียงน้อยกว่าแบบหมากฝรั่ง
2.ยาตามใบสั่งแพทย์
ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ช่วยให้หยุดบุหรี่ได้ แต่ต้องจ่ายตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งยาเหล่านี้ยังสามารถใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ที่ให้สารนิโคตินทดแทน แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อเลือกวิธีการเลิกบุหรี่ที่ดีสำหรับผู้สูบ
ยาที่ได้การรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา
1.ยาบูโบรพิออน (Bupropion)
ยาบูโบรพิออน หรือชื่อทางการค้า Wellbutrin Zyban หรือ Aplenzin เป็นยาที่ไม่มีส่วนประกอบของนิโคติน ใช้รักษาโรคซึมเศร้า จะจ่ายตามใบสั่งแพทย์ ช่วยให้อาการการขาดสารนิโคตินลดลง
วิธีการใช้ ควรเริ่มรับประทานยาบูโบรพิออน 1-2 สัปดาห์ก่อนจะเริ่มหยุดสูบบุหรี่ แพทย์อาจให้รับประทานยานี้ต่ออีก 7-12 สัปดาห์ จนกว่าจะสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างถาวร
2.ยาวาเรนิคลิน (Varenicline)
ยาวาเรนิคลิน (Varenicline) หรือชื่อทางการค้า Chantix พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยผู้ที่กำลังเลิกสูบบุหรี่อยู่โดยเฉพาะ สามารถช่วยหยุดบุหรี่ได้ถึงสองเท่าและอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ยาบูโบรพิออนในระยะสั้นอีกด้วย ยานี้จะทำปฏิกิริยารบกวนกับตัวรับสารนิโคตินในสมองโดยออกฤทธิ์ได้สองทาง คือ ลดความสุขในการสูบบุหรี่ และช่วยลดอาการของการขาดสารนิโคตินได้
วิธีการใช้ ควรรับประทานยาวาเรนิคลิน 1 สัปดาห์ก่อนจะเริ่มหยุดสูบบุหรี่ ต่อเนื่องไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง เพราะยาตัวนี้เชื่อมโยงกับโรคซึมเศร้า ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย และการฆ่าตัวตาย ผู้ที่รับประทานยาวาเรนิคลินควรจะต้องได้รับการดูแลเกี่ยวกับเรื่องจิตใจ เช่น อารมณ์ซึมเศร้า การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมหรือความคิด
สมุนไพรสำหรับผู้ที่อยากเลิกบุหรี่
1.ชาชงหญ้าดอกขาว เป็นสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น หญ้าหมอน้อย หญ้าละออง หรือถั่วแฮะดิน หญ้าดอกขาวมีสารต้านอนุมูลอิสระค่อนข้างสูงอาจช่วยให้เลิกบุหรี่ง่ายขึ้นได้ เพราะมีสรรพคุณทำให้ลิ้นฝาด ไม่รับรู้รสชาติ ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ รู้สึกเหม็นบุหรี่ ราคาถูก เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
ใช้หญ้าดอกขาวแห้งปริมาณ 2 กรัม ต่อน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร แช่ไว้ 5-10 นาที ดื่มหลังอาหารทันที วันละ 3-4 ครั้ง ข้อควรระวัง คือ การใช้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และโรคไต ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากชาหญ้าดอกขาวมีสารโพแตสเซียมปริมาณที่สูง อาจส่งผลให้อาการของโรคกำเริบได้ อาการไม่พึงประสงค์อย่างเช่น ปากแห้ง คอแห้ง เป็นต้น
2.มะนาว วิธีใช้ง่าย ๆ เพียงหั่นมะนาวทั้งเปลือก เป็นชิ้น ๆ พอคำ นำมารับประทานเมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ สารสำคัญในเปลือกมะนาวมีผลต่อการทำงานของต่อมรับรสขม ทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป ซึ่งจะช่วย ลดความอยากสูบบุหรี่ได้
การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ใช่แค่ทำร้ายสุขภาพของผู้สูบ ยังทำร้ายผู้ที่สูดดมควันจากบุหรี่อีกด้วย การเลิกบุหรี่จึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ควรเริ่มต้นทำสิ่งดีๆเพื่อตนเอง อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ในผู้สูบทุกราย แต่ผู้สูบทุกรายควรได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมถึงแนวทางในการเลิกบุหรี่ที่ถูกต้อง หรือลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการอยากสูบบุหรี่
ผู้ที่สนใจอยากจะเลิกบุหรี่ สามารถขอคำแนะนำหรือรับบริการได้ที่โรงพยาบาลที่มีการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยกว่า 500 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถติดต่อใช้บริการ ได้ตามสถานพยาบาลใกล้บ้านท่าน และท่านที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล สามารถติดต่อที่โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน สอบถามข้อมูลได้ที่ 0 2224 3261-3
ข้อมูลจาก สสส. , กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก , HDmall , คณะแพทยศาสตรโรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง