รีเซต

สถานีอวกาศ ISS บนวงโคจรศึกษาภาวะโลกร้อนแก้ไขปัญหาบนพื้นโลก

สถานีอวกาศ ISS บนวงโคจรศึกษาภาวะโลกร้อนแก้ไขปัญหาบนพื้นโลก
TNN ช่อง16
27 เมษายน 2566 ( 17:47 )
52
สถานีอวกาศ ISS บนวงโคจรศึกษาภาวะโลกร้อนแก้ไขปัญหาบนพื้นโลก

เนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2023 ที่ผ่านมา นาซา (NASA) ได้ออกมาเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ถึงการทำงานบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลมากมายเพื่อนำมาใช้สำหรับจัดการปัญหาภาวะโลกร้อนบนพื้นโลก


เครื่องมือสำรวจนอกสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) 

โดยสถานีอวกาศนานาชาติเป็นสถานที่ที่ดีสำหรับการศึกษาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นบนพื้นโลก เนื่องจากสถานีอวกาศนานาชาติโคจรผ่านพื้นที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของโลกและมีรอบการโคจร 16 รอบต่อวัน ทำให้นาซาเลือกที่จะติดตั้งอุปกรณ์อย่างอีโค่สเตรซ  (ECOSTRESS), อีมิท (EMIT) และเสจ 3-ไอเอสเอส (SAGE III-ISS) ไว้บริเวณภายนอกของสถานีอวกาศนานาชาติ


ในส่วนของอีโค่สเตรซจะทำหน้าที่วัดอุณหภูมิพื้นดิน โดยอุณหภูมิของพื้นดินมักจะสูงกว่าอุณหภูมิในอากาศเนื่องจากพื้นดินสามารถรับความร้อนได้ดีในเวลากลางวัน ซึ่งบริเวณที่ในเวลากลางวันมีอุณหภูมิพื้นดินสูงจะทำให้บริเวณนั้นในเวลากลางคืนมีอุณหภูมิสูงตามไปด้วย 

ต่อมาคืออีมิทที่เป็นอุปกรณ์สร้างแผนที่ทรายด้วยสเปกโทรมิเตอร์ ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อประเมินว่าอนุภาคฝุ่นจากทรายส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศอย่างไร โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าอนุภาคของฝุ่นจากทรายบางชนิดมีคุณสมบัติสะท้อนแสง ในขณะที่บางชนิดมีคุณสมบัติดูดซับแสง จึงทำให้บางพื้นที่ในทะเลทรายมีอุณหภูมิต่างกัน


สุดท้าย คือ เสจ 3-ไอเอสเอสที่ทำหน้าที่ตรวจจับอนุภาคขนาดเล็กหรือละอองที่เกิดจากภูเขาไฟและไฟป่า ซึ่งสามารถคงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานหลายปีและมีคุณสมบัติในการกระเจิงแสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้มันกลายเป็นอีกหนึ่งปัจัยที่ทำให้อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศโลกสูงขึ้น

รูปถ่ายโลกฝีมือนักบินอวกาศ 

นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายรูปพื้นผิวโลกจากสถานีอวกาศนานาชาติด้วยฝีมือของเหล่านักบินอวกาศ โดยมีตัวเลขของรูปภาพมากถึง 3.5 ล้านรูป


ข้อมูลและภาพจาก NASA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง