ผู้ปกครองต้องรู้ ! เด็กใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเยอะไป ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และสมอง
20 พฤศจิกายน ตรงกับ “วันเด็กสากล” ซึ่งมีเป้าหมายหลักอยู่ 2 ประการ คือ เพื่อส่งเสริมให้เด็กทุกเชื้อชาติใช้เวลาร่วมกันและเห็นคุณค่าในความแตกต่างของกันและกัน และเพื่อกระตุ้นให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับสวัสดิภาพของพลเมืองที่มีอายุน้อยของประเทศตนเองมากขึ้น วันนี้ TNN Tech จึงนำงานวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่สำคัญกับเด็กมาให้ได้อ่านกัน นั่นคือ การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเป็นระยะเวลานานส่งผลกระทบต่อสมองของเด็ก ซึ่งเป็นงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งฮ่องกง (The Education University of Hong Kong) ตีพิมพ์ในวารสารเกี่ยวกับการศึกษาชื่อการศึกษาปฐมวัยและการพัฒนา (Early Education and Development) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
งานวิจัยนี้ศึกษาภาพถ่ายระบบประสาทตลอดระยะเวลา 23 ปีที่เก็บสะสมมา พบว่าเทคโนโลยีมีผลกระทบบางอย่างต่อเด็ก อันที่จริงมีทั้งผลดีและผลเสีย แต่ส่วนใหญ่เป็นผลเสีย โดยการศึกษานี้ได้ทบทวนงานวิจัยทั้งหมด 33 งาน ที่ใช้เทคนิคการถ่ายภาพระบบประสาทเพื่อวัดผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลต่อสมองของเด็ก 30,000 คนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี
การศึกษาพบว่าการใช้หน้าจอเป็นเวลานานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า (pre-frontal cortex of the brain) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของการรับรู้ที่ซับซ้อนต่าง ๆ เช่น การแสดงออกทางบุคลิกภาพ การตัดสินใจ และพฤติกรรมทางสังคม นอกจากนี้ ยังตรวจพบผลกระทบต่อกลีบขมับ (temporal lobe) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานหลัก ๆ หลายประการ เช่น การประมวลผลการได้ยิน ความจำ ภาษา การรับรู้ทางสายตา ทั้งยังส่งผลต่อกลีบท้ายทอย (occipital lobe) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการประมวลผลข้อมูลภาพ และกลีบข้างขม่อม (parietal lobe) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการประมวลผลข้อมูลทางประสาทสัมผัส
ผลเสียจากการใช้หน้าจอยังอาจส่งผลต่อความสนใจต่าง ๆ ด้วย เช่น ความสนใจด้านการบริหารจัดการ การควบคุมเรื่องที่มีการสั่งห้าม การทำงานของระบบการรับรู้ และการเชื่อมต่อการทำงานของสมอง นอกจากนี้หากใช้เวลาต่อหน้าจอนานขึ้น ก็จะส่งผลต่อการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการรับรู้ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาการทางสติปัญญาด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่ใช้งานแท็บเล็ต จะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาได้ไม่ค่อยดี และยังมีการศึกษาอีก 4 งาน ที่ชี้ให้เห็นว่าวิดีโอเกม และการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างหนัก ส่งผลเสียต่อปริมาณสมองและระดับการรับรู้
ผลลัพธ์เชิงบวก
แต่ไม่ใช่ทุกงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นผลเสียไปทั้งหมด ยังมีงานวิจัยอีก 6 ชิ้น ที่แสดงให้เห็นว่าการใช้งานอุปกรณ์เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบดิจิทัล ส่งผลดีต่อสมองของเด็ก เช่น พบว่ามีความสามารถในการโฟกัสและการเรียนรู้เพิ่มขึ้นในกลีบสมองส่วนหน้าของเด็กที่ใช้อุปกรณ์เทคบางราย และในบางงานวิจัยพบว่าวิดีโอเกม ทำให้เด็กบางคนมีความสามารถในด้านการบริหารจัดการ และมีความสามารถในการรับรู้เพิ่มขึ้น
ฮุย ลี่ (Hui Li) ศาสตราจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์และการพัฒนามนุษย์บอกว่า “ต้องยอมรับว่าการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีและประสบการณ์ดิจิทัลส่งผลต่อการพัฒนาความรู้ความเข้าใจของเด็ก ซึ่งวิธีที่จะมีประสิทธิภาพในการรับมือก็คือการจำกัดเวลาหน้าจอ แต่ต้องมีการพูดคุยกับเด็ก มีกลยุทธ์ที่สร้างสรรค์ เป็นมิตรต่อเด็ก”
วิธีการที่ดีคือไม่ใช่ห้ามเด็กใช้งานเกี่ยวกับอุปกรณ์เทคโนโลยีเลย แต่นักวิจัยเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติส่งเสริมความคิดริเริ่มด้านดิจิทัล ที่ส่งเสริมการพัฒนาสมองที่ดี เพื่อช่วยผู้ปกครองดูแลลูก ๆ ในการใช้งานเกี่ยวกับอุปกรณ์เทคโนโลยี
ที่มาข้อมูล Interestingengineering, Tandfonline
ที่มารูปภาพ Pixabay