เกียรตินาคินภัทร เฉือนจีดีพีเหลือ 3.2% มองรัฐหนุนพลังงานให้ทุกคน สร้างภาระทางการคลัง
ข่าววันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ได้ออกรายงาน “เศรษฐกิจไทยเปราะบางแค่ไหนเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น” ระบุว่า ได้ปรับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2565 เหลือ 3.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% โดยประเมินว่าความไม่แน่นอนต่อภาพแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีสูงขึ้นมาก จากผลกระทบของสถานการณ์ยูเครนและรัสเซีย และปรับประมาณการเงินเฟ้อเฉลี่ยจากที่เคยคาดไว้ที่ 2.3% สำหรับทั้งปี เป็น 4.2% จากต้นทุนราคาพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยประเมินราคาน้ำมันจะแตะระดับสูงสุดที่ค่าเฉลี่ย 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาส 2 และราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีที่ 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
รายงานระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบคือ ในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับสูงสุดที่ 5.5% ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง ต่อมาการส่งออกชะลอตัวลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเศรษฐกิจยุโรปจะรับผลกระทบหนักกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจรัสเซียมาก และ การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ จากการเปิดประเทศที่ทำได้ช้ากว่าคาด รวมไปถึงเศรษฐกิจยุโรปที่ได้รับผลกระทบกว่าคาด นับเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย
อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้ายประเมินว่า มีโอกาสที่มาตรการคว่ำบาตรอาจจะรุนแรงมากขึ้น จนส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปีที่ 130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์และเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น ซึ่งจะดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวสูงขึ้นเป็น 5.1% ในขณะที่จีดีพีอาจเติบโตได้เพียง 2.7%
รายงานระบุต่อว่า มาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของรัฐบาล เป็นการช่วยเหลือที่มีลักษณะบิดเบือนราคาตลาด ทำให้คนไม่ลดการใช้พลังงานลงเมื่อราคาแพงขึ้น และอาจเป็นการให้เงินอุดหนุนกับกลุ่มคนที่ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการอุดหนุน นอกจากนี้มาตรการอุดหนุนราคาเป็นการช่วยเหลือคนทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มผู้มีฐานะที่ใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนของภาครัฐสูงเกินความจำเป็น เพิ่มภาระทางการคลังสูงขึ้น
จึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาหากลไกที่ช่วยคัดครองผู้ได้รับผลกระทบ และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายการคลัง และลดผลกระทบได้จริงในระยะยาว รวมไปถึงในระยะยาวมีความจำเป็นในการปรับโครงสร้างให้เศรษฐกิจใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการพึ่งพาพลังงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทย