สั่งการหุ่นยนต์สุนัขด้วยจิตใจ แนวคิดใหม่กองทัพออสเตรเลีย
กองทัพออสเตรเลียเปิดเผยแนวคิดใหม่ล่าสุดชวนตะลึงในการสั่งการหุ่นยนต์ทรงสุนัขที่ยกระดับจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพียงอย่างเดียวไปสู่การทำงานร่วมกับนายทหารผ่าน “จิตใจ” ผ่านวิดีโอประชาสัมพันธ์เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา
แนวคิดดังกล่าวจะเป็นการสร้างหุ่นยนต์สุนัข หรือโรโบด็อก (Robodog) ที่มีระบบควบคุมการทำงานจากปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตอบสนองการทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ซึ่งเรียกว่า สมองส่วนประสานของหุ่นยนต์ (Brain Robotic Interface) ที่จะสามารถรับคำสั่งที่แปลงมาจากคลื่นสมองของมนุษย์ได้
โดยหลักการแล้วโรโบด็อก (Robodog) ใช้วิธีแปลงข้อมูลคลื่นสมองและส่งสัญญาณโต้ตอบผ่านแว่นตาอัจฉริยะเสมือนจริงครอบศีรษะ (VR Headset) ในขณะที่ส่วนหมวกครอบคาดว่าจะติดตั้งเซนเซอร์ชีวภาพ (Biosensor) สำหรับรับข้อมูลคลื่นสมอง โดยปัญญาประดิษฐ์จะทำการสร้างทางเลือกต่าง ๆ ในการตัดสินใจไว้ล่วงหน้า และรอรับคำสั่งที่มนุษย์นึกภาพขึ้นมาและจับคู่กับทางเลือกที่สอดคล้องกัน
โดยการทดสอบนั้นได้ใช้โฮโลเลนส์ (HoloLens) แว่นตาสำหรับแสดงผลแบบผสมความจริงเสมือน (Mixed Reality) จากบริษัท ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ที่เป็นแว่นตาประเภทเดียวกันกับที่กองทัพสหรัฐอเมริกาใช้งานตามที่เป็นข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้
ฟีเชอร์ดังกล่าวช่วยให้การฝึกทหารใหม่มีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยตัวระบบสามารถจำลองสภาพภูมิประเทศที่ท้าทาย, สภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว หรือแม้แต่สมรภูมิเสมือนได้ และในอนาคตหุ่นยนต์สุนัขจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการนำทาง การสำรวจสมรภูมิ และยกระดับการป้องกันภัยให้กับทหารในระดับหมู่หรือระดับหมวดได้ในอนาคต
ผลงานดังกล่าวนำโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ (University of Technology, Sydney) ที่สนับสนุนโดยศูนย์นวัตกรรมป้องกันประเทศ (Defence Innovation Hub) และกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Defence Science and Technology Group) ของออสเตรเลีย ภายใต้ชื่อโครงการริโค่ (RICO: Robotic and Autonomous Systems Implementation & Coordination Office) ที่จะก้าวสู่อนาคตของการรบให้เหนือกว่าศักยภาพในปัจจุบัน
ที่มาข้อมูล Interesting Engineering
ที่มารูปภาพ Australia's Ministry of Defense