รีเซต

ปิดฉาก 13 ปี "Foodpanda" เลิกธุรกิจในไทย l การตลาดเงินล้าน

ปิดฉาก 13 ปี "Foodpanda" เลิกธุรกิจในไทย l การตลาดเงินล้าน
TNN ช่อง16
24 เมษายน 2568 ( 12:37 )
8

เพจเฟซบุ๊ก foodpanda (ฟู้ดแพนด้า) แจ้งยุติการให้บริการในประเทศไทย ได้โพสต์รูปภาพที่ระบุข้อความไว้ว่า เรียนลูกค้าผู้ทรงเกียรติ เรามีความเสียใจที่จะต้องแจ้งให้คุณทราบว่า เราได้ตัดสินใจที่จะยุติการประกอบกิจการ ฟู้ดแพนด้า แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารและสินค้า ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2568" และยังเขียนข้อความบนเพจเฟซบุ๊ก ไว้ด้วยว่า 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ขับเคลื่อนธุรกิจ ร่วมจัดส่งความสุข ผ่านทุก ๆ ออเดอร์ให้แก่ลูกค้าทุกท่านในประเทศไทย เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับใช้ลูกค้าที่รักยิ่งของเรา และได้รับการสนับสนุนที่ดีมาโดยตลอดจากร้านค้า พารท์เนอร์ และไรเดอร์ ทุกท่าน ที่ร่วมเป็นผู้ขับเคลื่อนความสำเร็จที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพตลาดในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ระยะยาวของฟู้ดแพนด้าอีกต่อไป

เรามีความเสียใจอย่างยิ่งที่การเดินทางของเราต้องสิ้นสุดลง และเราขอขอบพระคุณลูกค้าทุกๆ ท่านที่เชื่อมั่นในฟู้ดแพนด้าเสมอมา

นอกจากนี้ ยังมีจดหมายข่าวที่ส่งถึงสื่อมวลชน จาก เดลิเวอรี ฮีโร่ (Delivery Hero) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ สัญชาติเยอรมนี ที่แจ้งว่า การยุติแพลตฟอร์มและการให้บริการในประเทศไทยนั้น เป็นการปรับกลยุทธ์เชิงภูมิศาสตร์ของบริษัทฯ 

โดยระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้ สอดคล้องกับแนวทางการปรับกลยุทธ์เชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งเคยดำเนินการมาแล้วในหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก, กานา, สโลวาเกีย และ สโลวีเนีย โดยบริษัทฯ จะมุ่งเน้นทรัพยากรไปยังตลาดอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มีศักยภาพในการเติบโตและผลตอบแทนที่สูงกว่า 

ส่วนทีมงานระดับภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบงานสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การตลาดและการบริหารทรัพยากรบุคคลสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะยังคงดำเนินงานตามปกติต่อไป 

ทั้งนี้ สำหรับ ฟู้ดแพนด้า ถือเป็นผู้ให้บริการจัดส่งอาหารรายแรกในไทย โดยเข้ามาจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งแต่ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว

จากนั้นมีความพยายามในการสร้างการเติบโต และขยายฐานลูกค้ามาต่อเนื่อง จนสามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดของไทย เป็นรายแรก ในปี 2563 แต่หากดูในด้านผลประกอบการ กลับพบว่า ขาดทุนต่อเนื่องทุกปี (ตลอด 13 ปี) และยังขาดทุนหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีผลขาดทุนสะสมมากกว่า 13,000 ล้านบาท

โดยมีการขาดทุน เป็นหลักเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไปตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมููลผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า

ปี 2562 ฟู้ดแพนด้า มีรายได้รวมกว่า 818 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ เป็นจำนวน 1,260 ล้านบาท

จากนั้นปี 2563 (ซึ่งเป็นปี ที่ฟู้ดแพนด้าให้บริการได้ครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว) แม้จะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น แต่ก็ขาดทุนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยมีรายได้รวมกว่า 4,370 ล้านบาท และขาดทุน 3,590 ล้านบาท

ต่อมาปี 2564 รายได้รวมเพิ่มขึ้นอีก เป็น 6,780 ล้านบาท และขาดทุนก็ เพิ่มขึ้นเป็น 4,720 ล้านบาท

พอมาปี 2565 รายได้รวมลดลงเหลือ 3,620 ล้านบาท และขาดทุนเป็นจำนวน 3,250 ล้านบาท

และปีล่าสุดที่มีการรายงานผลประกอบการ คือ ปี 2566 ฟู้ดแพนด้า มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,840 ล้านบาท และขาดทุนอีกกว่า 522 ล้านบาท

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง เมื่อปี 2566 สำนักข่าว รอยเตอร์ส รายงานว่า เดลิเวอรี่ ฮีโร่ มีความพยายามที่จะถอนตัวออกจากตลาดในภูมิภาคอาเซียน โดยกำลังเจรจาขายธุรกิจในเอเชียบางส่วน ซึ่งก็คือ ฟู้ดแพนด้า ที่มีอยู่ใน สิงคโปร์, กัมพูชา, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์ และไทย กับผู้ประกอบการรายอื่นที่เป็นคู่แข่ง 


ในช่วงเวลานั้นมีการระบุถึงคู่เจรจาว่าคือ แกร็บ และยังมีกระแสข่าวด้วยว่า มีการเจรจากับ เหมยถ้วน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่จากจีนอีกราย

แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 เดลิเวอรี่ ฮีโร่ ประกาศว่า ได้ล้มเลิกการเจรจาขายฟู้ดแพนด้าในบางประเทศในอาเซียน เนื่องจาก หาข้อตกลงร่วมกันกับผู้ที่สนใจซื้อไม่ได้ หลังจากเจรจากันมานานหลายเดือน แต่จากข่าวดังกล่าว เดลิเวอรี่ ฮีไร่ ไม่ได้เปิดเผยชื่อ ว่าบริษัทที่เจรจาด้วยนั้นว่า คือใคร

อย่างไรก็ดี สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน พบว่า ฟู้ดแพนด้า มีส่วนแบ่งตลาดที่โดดเด่นอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งตามข้อมูลของบริษัทวิจัย โมเมนตัม เวิร์ก พบว่าปี 2567 ที่ผ่านมา ฟู้ดแพนด้า มีส่วนแบ่งตลาดใน ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 39, มาเลเซีย ร้อยละ 25 และสิงคโปร์ ที่ร้อยละ 27

แต่ในไทย ฟู้ดแพนด้า มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 5 อยู่อันดับ 4 รองจาก แกร็บ, ไลน์แมน และ ช้อปปี้ ฟู้ด

ขณะที่ มูลค่าการใช้จ่ายของบริการ ฟู้ด เดลิเวอรี ในอาเซียน ปี 2567 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 19,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนของไทย มีมูลค่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง