รีเซต

นี่มันเทศกาล 9.9 Mega Sale นะ! สังเกตตัวเอง เราเป็น “Shopaholic” เสพติดการช้อปปิ้ง หรือเปล่า?

นี่มันเทศกาล 9.9 Mega Sale นะ! สังเกตตัวเอง เราเป็น “Shopaholic” เสพติดการช้อปปิ้ง หรือเปล่า?
Ingonn
8 กันยายน 2564 ( 17:12 )
174

เทศกาลช้อปปิ้ง 9.9 กลับมาอีกครั้งไม่ให้อดใจซื้อของยังไงไหว บางทีก็เผลอซื้อมากเกินไปจนไม่ได้คำนึงถึงเงินในกระเป๋า เชื่อว่าพฤติกรรมแบบนี้ใครๆ ก็เคยเป็นกับการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนลืมว่าจะไม่มีเงินกินข้าวก่อน แต่บางครั้งการชอบช้อปมันก็เป็นเส้นบางๆกั้น ระหว่างความสุขในการซื้อของ กับเรากำลังป่วยเป็น “Shopaholic” โรคเสพติดการช้อปปิ้ง

 

 


“Shopaholic” คือ อะไร?


Shopaholic เป็นโรคทางจิตหรือคำเรียกบุคคลที่มีอาการเสพติดการซื้อโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางการเงินของตนเอง อยากซื้อของตลอดเวลา มีความรู้สึกดีที่ได้เดินดูของ รู้สึกดีเมื่อได้เปรียบเทียบราคา และรู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ แต่ก็จะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาเดียว และจะรู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว เพราะคนที่เป็นโรคนี้มักจับจ่ายเกินความจำเป็นกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว จนทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น มีหนี้สิน ทะเลาะกับคนในครอบครัว มีพฤติกรรมหลบ ๆ ซ่อน ๆ โกหกเกี่ยวกับราคาสินค้าที่ซื้อมา หรือหลอกว่าไม่ได้ซื้อ เป็นต้น ซึ่งผู้หญิงมักเสี่ยงต่อพฤติกรรมดังกล่าวได้มากกว่า แต่ผู้ชายก็สามารถเป็นได้เช่นกัน

 

 


ทำไมถึงเป็น “Shopaholic”


อาจมีสาเหตุมาจากตัวบุคคล เช่น มีภาวะซึมเศร้า ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง หรือมีภาวะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มีความวิตกกังวล เป็นคนสมาธิสั้น เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีแรงกระตุ้นจากสื่อภายนอก เช่น โฆษณาขายของออนไลน์ ช่องทางการซื้อที่สะดวกสบาย กระตุ้นให้คนตกอยู่ในภาวะเสพติดช้อปปิ้งได้ง่ายขึ้น

 

 

 

เช็กอาการเราเป็น “Shopaholic” หรือยัง


• อยากซื้อของตลอดเวลา

 


• ซื้อของเกินความจำเป็น

 


• ชอบไปช้อปปิ้งเพื่อคลายเครียด

 


• มีความรู้สึกดี ตื่นเต้น เคลิบเคลิ้ม เมื่อได้ซื้อของ โดยมักจะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ

 


• รู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว

 


• ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้

 


• ซื้อซ้ำๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วหลายชิ้น

 


• ต้องหลบซ่อนหรือโกหกปกปิดเวลาซื้อของนั้นๆ

 


• มีปัญหาด้านอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น เกิดปัญหาหนี้สิน ปัญหาความสัมพันธ์ เป็นต้น

 


• ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน หรือเปิดบัตรใบใหม่แต่ยังไม่ได้ชำระหนี้ของบัตรใบเก่า

 


• ไม่สามารถจัดการการเงินของตนเองหรือไม่สามารถชำระหนี้สินจากการช้อปปิ้งได้

 


• ไม่สามารถยับยั้งพฤติกรรมการช้อปปิ้งของตนเองได้

 

 


ไม่อยากเป็น “Shopaholic” แล้ว ต้องทำยังไง


1. มีสติ รู้เท่าทันภาวะอารมณ์ตัวเอง และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เช่น บางคนซื้อของเพื่อบรรเทาความเครียด หรือบรรเทาความเศร้า ก็ควรหาวิธีจัดการความเครียดวิธีอื่นที่เหมาะสม

 


2. ไตร่ตรองก่อนซื้อ ว่าสิ่งของนั้นมีความจำเป็นจริงๆ หรือไม่ ไม่หุนหันพลันแล่นซื้อทันทีทันใด ให้เวลาตัวเองตัดสินใจและจัดการกับความอยากซื้อของก่อน

 


3. จำกัดสิ่งกระตุ้นความอยากซื้อของ เช่น ลบแอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์ ไม่ต้องกดติดตามร้านขายของออนไลน์ ไม่พกบัตรเครดิต เพื่อทำให้การจับจ่ายซื้อของยากขึ้น

 

 

 

นอกจากนั้นครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ก็มีส่วนช่วยได้ด้วยการเล่าปัญหาการซื้อของเกินความจำเป็นให้คนใกล้ชิดรับรู้ เช่น ไม่ไปช้อปปิ้งคนเดียว ขอให้คนใกล้ชิดช่วยตักเตือน ช่วยห้ามเวลาซื้อของ หรือช่วยวางแผนการใช้จ่าย

 

 


เสพติดการซื้อของแค่ไหน ต้องไปหาหมอ?

 

หากลองปรับตามวิธียับยั้งชั่งใจข้างต้นแล้ว แต่ยังรู้สึกว่าควบคุมอาการช้อปปิ้งไม่ได้ หรืออาการช้อปปิ้งนั้นมีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน กระทบความสัมพันธ์ หรือส่งผลต่ออารมณ์ ก็มาพบจิตแพทย์ได้

 

 

 


ข้อมูลจาก โรงพยาบาลมนารมย์ , pobpad , คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง