รีเซต

เปิด 5 เคสอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพหลอกชวนโอนเงินทำงานพิเศษ-ลงทุนธุรกิจ

เปิด 5 เคสอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพหลอกชวนโอนเงินทำงานพิเศษ-ลงทุนธุรกิจ
TNN ช่อง16
19 สิงหาคม 2567 ( 13:11 )
15
เปิด 5 เคสอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพหลอกชวนโอนเงินทำงานพิเศษ-ลงทุนธุรกิจ

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 15-18 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

 

คดีที่ 1 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,883,700 บาท 

ผู้เสียหายพบโฆษณาหารายได้พิเศษ ผ่านช่องทาง facebook จึงสนใจทักไปสอบถาม มิจฉาชีพแจ้งว่าเป็นกิจกรรมกลุ่มโพรโมตสินค้ากระตุ้นยอดขาย ได้รับคอมมิชชันตอบแทน จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line แล้วดึงเข้า Group Line โดยให้สำรองเงินทุนเข้าไปในระบบก่อน ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เสียหายต้องการยกเลิกภารกิจและถอนเงินคืน มิจฉาชีพแจ้งว่าทำผิดกฎบริษัทจะต้องชำระภาษี และค่าปรับก่อนจึงจะได้เงินคืน ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 2 หลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 248,413 บาท 

โดยผู้เสียหายพบเห็นโฆษณาสินเชื่อเงินสด ธนาคาร ผ่านช่องทาง Facebook จึงสนใจทักไปสอบถามแล้วเพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล มิจฉาชีพแจ้งว่าสินเชื่ออนุมัติเรียบร้อยแล้ว ต่อมาผู้เสียหายถอนเงินไม่ได้จึงติดต่อกลับไป มิจฉาชีพแจ้งว่าผู้เสียหายกรอกข้อมูลผิดพลาด ให้โอนเงินเพื่อแก้ไขข้อมูลและขอรับรหัสใหม่ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปให้หลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถถอนเงินได้และไม่ได้รับเงินคืน ต่อมาภายหลังทราบว่าเป็นเพจสินเชื่อปลอม ตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 3 คดีหลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 522,665 บาท 

ผู้เสียหายได้รู้จักกับมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Line ได้ชักชวนให้ลงทุนสกุลเงินดิจิทัล อ้างผลตอบแทนกำไรสูง โดยให้ลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มและดึงเข้า Group Line โดยมีการสอนแนะนำเงินลงทุนเข้าระบบ และให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ต่อมาภายหลังมีการให้ลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เสียหายต้องการยกเลิก และถอนเงินคืน แต่ไม่สามารถถอนได้ อ้างว่าทำผิดเงื่อนไขต้องชำระค่าปรับและชำระค่าภาษี ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 4 คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 1,289,845 บาท 

ผู้เสียหายลงประกาศขายสินค้าเครื่องออกกำลังกาย ผ่านช่องทาง Facebook ทั้งนี้ มิจฉาชีพติดต่อแจ้งเข้ามาว่า มีผู้สนใจสินค้าเครื่องออกกำลังกายจำนวนมาก จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line โดยอ้างว่าเป็นการเปิดระบบร้านค้าออนไลน์ และจะได้รับเงินคืนเมื่อมีการซื้อสินค้า แต่ต้องชำระค่าลงทะเบียนเปิดระบบร้านค้าออนไลน์ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปให้หลายครั้งตามคำแนะนำ ต่อมาทราบ ภายหลังว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

 

คดีที่ 5 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบโทรศัพท์ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 515,529 บาท 

ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทางโทรศัพท์ อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่จาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจ้งว่าจะคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line แล้วส่งลิงก์ข้อมูลให้ดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชัน และทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่จนเสร็จขั้นตอน ต่อมาภายหลังผู้เสียหายเช็กยอดเงินในบัญชีของตนเองพบว่า ได้ถูกโอนออกไป ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

         

สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 4,460,152 บาท

 

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 16 สิงหาคม 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

 

1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 943,690 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,254 สาย

 2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 274,911 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,109 บัญชี

 3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 81,791 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 29.75 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 66,494 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 24.19 (3) หลอกลวงลงทุน 46,026 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 16.74 (4) หลอกลวงให้กู้เงิน 20,935 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.62 (5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 20,874 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.59 (และคดีอื่นๆ 38,791 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.11)

 

จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหาย ด้วยการลงทุนเพื่อหารายได้พิเศษ การโปรโมตสินค้า หรือหลอกลวงปล่อยสินเชื่อให้กู้เงินโดยอ้างธนาคารที่น่าเชื่อถือ ผ่านการติดต่อด้วยช่องทาง โซเชียลมีเดีย คือ Line  และ Facebook  


ทั้งนี้ ขอย้ำว่า การลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบการลงทุนในธุรกิจอย่างรอบคอบ และติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด หรือติดต่อผ่านทางสายด่วน AOC 1441 เพื่อยืนยันตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ 


อย่างไรก็ตาม ดีอี ได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

 

หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) |  Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com



ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง