รีเซต

Editor’s Pick: “ฉันไม่ทานอาหารที่ต่ำกว่ามาตรฐาน”

Editor’s Pick: “ฉันไม่ทานอาหารที่ต่ำกว่ามาตรฐาน”
TNN World
11 มิถุนายน 2564 ( 09:57 )
118
Editor’s Pick: “ฉันไม่ทานอาหารที่ต่ำกว่ามาตรฐาน”
Editor’s Pick: “ฉันไม่ทานอาหารที่ต่ำกว่ามาตรฐาน” นี่ความอวดรวยแบบบ้าคลั่งของกลุ่มเศรษฐีชาวจีน แต่กลับสวนทางกับรายได้ของคนในประเทศ
 
 
 
 
3 พันบาทไม่พอค่าข้าวหนึ่งวัน
 
 
คุณคิดว่าเงิน 650 หยวน หรือราว 3 พันกว่าบาท เพียงพอสำหรับค่าอาหารต่อวันของคุณหรือไม่? แน่ล่ะว่า คุณใช้เงิน 3 พันกว่าบาทนี้ทานอาหารนานาชาติ ทานบุฟเฟต์ หรือแม้กระทั่งของหวานชื่อดังตามห้างทั่วไปได้ แถมยังมีเงินเหลือเก็บไว้สำหรับทานในมื้อต่อไป ๆ ได้อีกด้วย
 
 
แต่สำหรับ 'ซู หมาง' มันเป็นเศษเงินที่ยังไม่พอค่าอาหาร 1 วันของเธอด้วยซ้ำ
“เราทานดีกว่านี้ ฉันไม่ทานอาหารที่ต่ำกว่ามาตรฐาน” ซู กล่าว ระหว่างถ่ายทำรายการเรียลลิตี้โชว์ รวบรวมเหล่า 15 คนดังให้มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเป็นเวลา 21 วัน
 
 
ความคิดเห็นเกี่ยวกับค่าอาหารของเธอ สร้างความตกตะลึงและความขุ่นเคืองให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก แล้วยังชี้ว่า ค่าอาหารแต่ละวันของคนปกติอย่างพวกเขา เฉลี่ยน้อยกว่า 30 หยวน หรือราว 150 บาทเท่านั้น
 
 
แม้ว่า ซู หมาง ผู้มีฉายาว่า ‘นางมารจีนสวมปราด้า’ ออกมาชี้แจงว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเข้าใจผิด เงิน 650 หยวนที่เธอหมายถึงมันคือเงินที่เธอต้องใช้จ่ายตลอดการถ่ายทำรายการทั้งหมด แต่ประชาชนไม่เชื่อคำชี้แจงดังกล่าว
“เธอพยายามอธิบาย แต่มันก็หนีความจริงว่า เหล่าคนดังคือกลุ่มชนชั้นสูงผู้ไม่เคยตระหนักถึงสิ่งนี้” นี่คือหนึ่งในความคิดเห็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจากเว็บ Weibo
 
 
 
ความโกรธแค้นที่มีต่อเหล่าคนดัง
 
 
กรณีของ 'ซู หมาง' อดีตบรรณาธิการรายนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการที่สาธารณชนโจมตีพฤติกรรมใช้เงินฟุ่มเฟือยของเหล่าเซเลบริตี้
 
 
ก่อนหน้านี้ แอนนาเบล เหยา ลูกสาวคนเล็กของ เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัท Huawei ที่มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 1.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือราว 4.3 หมื่นล้านบาท เผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างหนัก หลังเธอออกมาพูดว่า ‘ชีวิตเธอมันลำบาก’
 
 
“ฉันไม่เคยปฏิบัติตัวเองราวเป็นเจ้าหญิง ฉันคิดว่าฉันเหมือนคนทั่วไปที่วัยเดียวกับฉัน ฉันต้องทำงานหนัก เรียนหนัก ก่อนที่จะได้เข้าโรงเรียนดี ๆ” เธอเคยกล่าวในสารคดีความยาว 17 นาที เกี่ยวกับเส้นทางการเป็นนักร้องของเธอ สารคดีชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ลงบนบัญชี Weibo ของเธอ
 
 
คนอย่างซูหมาง หรือแอนนาเบล เหยา กำลังถูกจับตาจากคนในสังคม, หลายคนเชื่อว่าเหล่าฟู่เอ้อไต้ หรือลูกคนรวยเหล่านี้ ไม่สมควรได้รับรายได้ที่สูงลิบลิ่ว ทั้งที่ไม่ได้หาเงินเอง
 
 
 
คนรวยเลือกชีวิตได้ คนจน 'ไม่แม้จะมีสิทธิเลือก'
 
 
เป็นที่รู้กันมานานว่า เหล่าเศรษฐีชาวจีนมักมีนิสัยโอ้อวด ทั้งอวดรถยนต์หรู หรือกระเป๋าถือลงบนสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความอิจฉาจากเหล่าแฟนคลับ
 
 
ความโอ้อวดที่มีขึ้นเรื่อย ๆ โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม กลับสร้างความเกลียดชัง การดูถูกเหยียดหยาม และถูกตีตราว่าเป็น 'คนหูหนวกตาบอด' ในขณะที่คนในชาติเผชิญปัญหารายได้ไม่เท่าเทียม
 
 
ดร.ไห่ชิง หยู ศาสตราจารย์ด้านสื่อ แห่งมหาวิทยาลัย RMIT ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า กรณีความคิดเห็นของ 'ซู หมาง' ที่มีต่ออาหารของเธอ ทำให้ชาวจีนโกรธเกรี้ยว เพราะสำหรับ 'บางคน' ชีวิตนั้นเลือกได้ แต่คนส่วนใหญ่ เป็นคนที่ 'ไม่มีทางเลือก'
 
 
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของประเทศจีนรายงานว่า ชาวจีนมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 32,189 หยวนต่อปี หรือประมาณ 2,682 หยวนต่อเดือน (ราว 13,000 บาทต่อเดือน) ขณะที่ในกรุงปักกิ่ง เป็นเมืองที่มีเศรษฐีพันล้านมากกว่าเมืองอื่น ๆ บนโลก
 
 
 
ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
 
 
“ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” คือสิ่งที่อดีตผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง เคยบัญญัติไว้ และเป็นสิ่งที่ตราตรึงในจิตใจชาวจีนมายาวนาน, ความหมาย คือ หากทุกคนมั่งคั่ง ประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรืองเช่นกัน แต่ในความเป็นจริง คือ บางคนกลับรวยก่อน บางภูมิภาครวยเร็วกว่า และส่วนใหญ่อาจไม่มีวันเรียกว่ารวยได้เลย
 
 
“แต่ 40 ปีหลังจากนั้น เมื่อประเทศเปิด กลุ่มคนรวยเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่รวยมากขึ้น ทิ้งคนอื่น ๆ ไว้ข้างหลังด้วยความรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง” ดร.เจียน ซู ผู้ทำการวิจัยวัฒนธรรมสื่อจีนแห่งมหาวิทยาลัย Deakin กล่าว
 
 
ดร.จอห์น ออสเบิร์ก ผู้เขียนหนังสือ Anxious Wealth: Money and Morality Among China's New Rich บอกกับสำนักข่าว BBC ว่า เมื่อชนชั้นกลางของจีนมีจำนวนมากขึ้น ชาวเมืองที่มีการศึกษาจึงตีความการอวดอ้างความมั่งคั่งว่า ‘ขาดรสนิยม’ หรือแม้กระทั่งมีต้นกำเนิดมาจาก ‘ชนชั้นต่ำ’
 
 
ดร.จอห์น ยังกล่าวต่อไปว่า การอวดอ้างนั้นเป็นความพยายามเติมเต็มอย่างหนึ่ง รวมถึงเป็นสัญญาณของความรู้สึกไม่มั่นคงในจิตใจ
 
 
ตามรายงานของบริษัทวิจัยตลาด Euromonitor International ระบุว่า ประเทศจีนแซงหน้าญี่ปุ่นในฐานะตลาดสินค้าหรูหราส่วนบุคคลชั้นนำในเอเชียแปซิฟิกไปแล้ว และคาดว่าจะเห็นการเติบโตของยอดขายกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดภายในสิ้นปีนี้
 
 
 
ศิลปะของความอ่อนน้อมถ่อมตน
 
 
ดร.ไห่ชิง หยู ศาสตราจารย์ด้านสื่อ ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้คนรวยบางคนพยายามอวดความความมั่งคั่งของตนเองในแบบอ้อม ๆ เลือกที่จะไม่แสดงภาพทรัพย์สินที่เป็นวัตถุ เช่น อินฟลูเอนเซอร์ MengQiqi77 ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการแชร์ภาพเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ที่หรูหราของเธอเป็นประจำ
 
 
ครั้งหนึ่งเธอเคย "บ่น" ลงบน Weibo ไมโครบล็อกว่า ย่านที่เธออาศัยมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงพอ ดังนั้น เธอและสามีจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องย้ายไปอยู่ในบ้านหลังใหญ่ ที่มีโรงรถส่วนตัวสำหรับรถยนต์ Tesla ของสามี
 
 
นอกจากนี้ เธอยังแสดงความเห็นว่าสามีของเธอ "ประหยัดเกินไป" สำหรับการเลือกที่จะสวมชุดสูทผ้าขนสัตว์ชนิดหนึ่งของ Zegna ที่มีราคา ‘เพียง 30,000 หยวน’ หรือเกือบ 1 แสน 5 หมื่นบาท
 
 
การโพสต์ของเธอย่อมไปกระตุกต่อมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแดนมังกร ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างเขียนล้อเลียนโพสต์ของเธอ บางคนตั้งชื่อให้พวกเขาว่าเป็นนักเขียน “วรรณกรรมแวร์ซาย” และชาวเน็ตหลายคนต่างเขียนเรื่องตลกโดยอิงวิธีการเขียนของ MengQiqi77 อยู่เป็นเวลาหลายเดือน
 
 
ชาวเน็ตคนหนึ่งแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดซึ่งคล้ายกับพันทิปของไทยว่า วิธีการที่จะกวนใจคู่รักจอมอวดนี้ทำได้ คือ “แกล้งทำเป็นไม่เห็นในสิ่งที่พวกเขาอยากอวด”
 
 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง