6 แบงก์ประเดิมนำร่อง เปิดให้บริการ dStatement ให้บริการรับ-ส่ง ข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ร่วมเปิดตัวการให้บริการ dStatement (digital bank statement) ซึ่งเป็นการให้บริการรับ-ส่ง ข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบดิจิทัลโดยตรงระหว่างสถาบันการเงิน
ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ต้องการใช้ข้อมูล bank statement เป็นหลักฐานประกอบการสมัครขอใช้บริการทางการเงิน สามารถขอให้ธนาคารที่ตนเองมีบัญชีเงินฝากอยู่ ส่งข้อมูล bank statement ไปยังธนาคารแห่งอื่นได้โดยตรง ผ่านช่องทาง mobile banking application หรือช่องทางอื่นตามที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งกำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกในการใช้บริการทางการเงินยิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องขอข้อมูลดังกล่าวในรูปเอกสารกระดาษ
โดยในระยะแรกของการให้บริการ dStatement จะเริ่มใช้สำหรับการสมัครขอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล และมีธนาคารที่เปิดให้บริการ dStatement ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จำนวน 6 ธนาคาร และจะทยอยเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีก 5 ธนาคาร ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565
การให้บริการ dStatement ถือเป็นโครงการนำร่องโครงการแรก ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนามาตรฐานและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน” ซึ่งธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารนานาชาติ ได้ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนเองที่มีอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เพื่อเพิ่มโอกาสในการเลือกใช้บริการทางการเงินที่หลากหลายจากสถาบันการเงินแห่งอื่น ๆ ได้โดยสะดวก รวดเร็ว และตรงตามความต้องการของตนเองยิ่งขึ้น และถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสนับสนุนการยกระดับบริการทางการเงินสู่บริการทางการเงินดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
นายรณดล กล่าวว่า พัฒนาการด้านเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งให้ระบบการเงินของประเทศก้าวสู่โลกการเงินดิจิทัล ดังนั้นการสร้างระบบนิเวศที่เปิดกว้างให้ทั้งผู้ใช้บริการทางการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินสามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่มีให้เกิดประโยชน์ เพื่อต่อยอดพัฒนานวัตกรรมในการให้บริการ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ได้หลากหลายอย่างเสรี จึงเป็นสิ่งสำคัญ
นายรณดล ยืนยันว่า การที่แต่ละธนาคารจะนำข้อมูลของลูกค้าออกมาใช้ระหว่างกันในการพิจารณาคำขอสินเชื่อนั้น จะอยู่ภายใต้การคำนึงถึงสิทธิในข้อมุลส่วนบุคคล ซึ่งข้อมูลที่แต่ละธนาคารจะนำออกมาใช้ได้จะต้องผ่านการยินยอมจากลูกค้าก่อน โดยลูกค้าจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขและวัตถุประสงค์ว่าจะให้ธนาคารนำข้อมูลไปใช้ได้กับกรณีใดบ้าง ขณะเดียวกัน ขอให้มั่นใจว่าธนาคารจะปกป้องข้อมูลของลูกค้าไม่ให้เกิดการรั่วไหล โดยระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล จะเป็นไปตามมาตรฐานการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรฐานสากล
อย่างไรก็ดี คาดหวังว่าในอนาคตจะมีการต่อยอดข้อมูลดังกล่าวนอกเหนือจากการใช้ข้อมูลระหว่างธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐออกไปเพิ่มเติม เช่น Non-Bank หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนอื่นๆ หรือแม้แต่การใช้ dStatement เพื่อการขอวีซ่า เป็นต้น