รีเซต

วัณโรคปอด! หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วยรับเชื้อจากพ่อตอนเด็ก เพิ่งแสดงออกเมื่อป่วยเบาหวาน

วัณโรคปอด! หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วยรับเชื้อจากพ่อตอนเด็ก เพิ่งแสดงออกเมื่อป่วยเบาหวาน
TNN ช่อง16
5 มิถุนายน 2567 ( 12:12 )
17
วัณโรคปอด! หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วยรับเชื้อจากพ่อตอนเด็ก เพิ่งแสดงออกเมื่อป่วยเบาหวาน

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ วัณโรคปอด 


โดยระบุว่า ผู้ป่วยชายอายุ 43 ปี เพิ่งทราบว่าเป็นโรคเบาหวาน ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ติดโควิดครั้งแรกวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ อาการโรคโควิดไม่มาก หลังจากหายแล้ว ตรวจพบไซนัสอักเสบ และเอกซเรย์ปอดพบปอดมีจุดหลายจุดในปอดด้านซ้ายกลีบบน ผู้ป่วยไม่ไอ ไม่มีไข้ ไม่เบื่ออาหาร น้ำหนักไม่ลด มีประวัติพ่อเคยป่วยเป็นวัณโรค ได้ยาปฏิชีวนะ ไซนัสอักเสบดีขึ้น แต่เอกซเรย์ปอดไม่ดีขึ้น ที่ รพ.อื่นได้ส่งเสมหะย้อมไม่พบเชื้อวัณโรค ผู้ป่วยขอมาปรึกษาวันที่ 1 มิถุนายน 2567 เรื่องหายจากโควิด กินยาปฏิชีวนะแล้ว แต่เอกซเรย์ปอดยังไม่ดีขึ้น
ตรวจร่างกายปกติ ไม่มีไข้ ฟังปอดปกติ


เอกซเรย์ปอดมีรอยโรคผิดปกติแบบ reticulo-nodular ที่ปอดด้านซ้ายกลีบบนเข้าได้กับวัณโรค เนื่องจากคนไข้ไม่ไอ เก็บเสมหะไม่ได้ จึงได้ทำการส่องกล้องเข้าไปในหลอดลม (Bronchoscopy) ไม่พบอะไรผิดปกติในหลอดลม เอาน้ำล้างหลอดลมส่งตรวจ ย้อมเชื้อไม่พบวัณโรค ส่งเพาะเชื้อวัณโรคซึ่งต้องรอผล 4 สัปดาห์ ตรวจรหัสพันธุกรรมของวัณโรค PCR-TB ใช้เวลา 2 ชั่วโมง ผลออกมาเป็นบวก


สรุป: ผู้ป่วยรายนี้เป็นวัณโรคปอดชนิดไม่มีอาการ ตรวจพบเป็นวัณโรคปอดหลังหายป่วยจากโรคโควิด คงรับเชื้อวัณโรคจากพ่อสมัยเป็นเด็ก วัณโรคเพิ่งมาแสดงออกเมื่อป่วยเป็นโรคเบาหวาน เริ่มให้ยารักษาวัณโรคทันที



 โรควัณโรคปอด (T.B. Pulmonary)

วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ทำให้มีการอักเสบในปอด ซึ่งในผู้ใหญ่มักจะพบส่วนใหญ่เป็นที่ปอด ในเด็กอาจเป็นที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง กระดูก สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็น acid fast bacillus (AFB) ย้อมติดสีแดง ซึ่งจะมีอยู่ในปอดของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา


อาการของวัณโรคปอด


ส่วนใหญ่ของเด็กที่ติดเชื้อ จะไม่มีอาการของโรคเมื่อทดสอบทูเบอร์คิวลินได้ผลบวก (ซึ่งเป็นการแสดงว่าเด็กติดเชื้อวัณโรค) การตรวจ X-rays ของปอดก็จะไม่พบผิดปกติในระยะแรก ถ้าเด็กมีสุขภาพและภาวะโภชนาการดี โรคจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีเมื่อได้รับเชื้อ อาการที่จะพบได้เร็วที่สุดประมาณ 1-6 เดือนหลังติดเชื้อ ที่จะพบได้บ่อย คือ มีต่อมน้ำเหลืองโตที่ขั้วปอด ที่คอ และที่อื่นๆ แล้วจึงพบผิดปกติที่ปอดและอวัยวะอื่นๆ

เด็กเกือบทั้งหมดที่เป็นวัณโรคจะเริ่มต้นเป็นจุดที่ปอดก่อน เด็กจะมีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง บางคนมีอาการไอเรื้อรัง บางคนมีไอซ้อนๆ กันคล้ายไอกรน เด็กโตบางคนอาจบ่นเจ็บหน้าอก และเหนื่อยหอบ ถ้าเป็นมากจะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด

ในเด็กโตจะเริ่มด้วยอาการเป็นไข้ 1-2 สัปดาห์ ปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง ซึมมากจนถึงไม่รู้สึกตัว บางรายอาจมีอาการชัก มีอัตราตายสูงและมีความพิการเหลืออยู่ถ้าได้รับการรักษาช้า


การป้องกันวัณโรคปอด


-หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังมีอาการไอ และยังไม่ได้รับการรักษาด้วยยารักษาวัณโรค
-ในผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ที่ตรวจได้ผลทูเบอร์คิวลินบวกแพทย์จะพิจารณาให้ยาป้องกัน Isoniacid นาน 2-3 เดือน
-ให้วัคซีน BCG ป้องกัน ในประเทศที่มีโรควัณโรคชุกชุม องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เริ่มให้ BCG วัคซีนตั้งแต่แรกเกิด วัคซีน BCG ถึงแม้จะมีประสิทธิผลแตกต่างกันจากการศึกษาในที่ต่างๆ ตั้งแต่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ไปจนถึงร้อยละ 80 แต่ที่ได้ผลชัดเจน คือ ป้องกันวัณโรคชนิดรุนแรงแบบแพร่กระจาย และวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง ในประเทศไทยให้วัคซีน BCG เมื่อแรกเกิด




ที่มา กรมควบคุมโรค / หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง