รีเซต

สอวช.อบรมหลักสูตรออกแบบนโยบายวทน.-เสวนาระดับนานาชาติขับเคลื่อนบีซีจี

สอวช.อบรมหลักสูตรออกแบบนโยบายวทน.-เสวนาระดับนานาชาติขับเคลื่อนบีซีจี
TNN ช่อง16
23 มีนาคม 2565 ( 11:30 )
134
สอวช.อบรมหลักสูตรออกแบบนโยบายวทน.-เสวนาระดับนานาชาติขับเคลื่อนบีซีจี

เมื่อเร็วๆนี้ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวถึง ภารกิจ กิจกรรมของ สอวช. ในรอบเดือนกุมภาพันธ์ ว่า มีหลายประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ เริ่มจาก สอวช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดอบรมหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 4 (STIP04) ในวันที่  9, 14 กุมภาพันธ์ 2565 ในรูปแบบ Hybrid Learning ผสมผสานระหว่างการเรียนออนไลน์และการเรียนออนไซต์ ผ่านแพลตฟอร์ม STIPIAcademy.com โดยการอบรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ รวมถึงเป็นการสร้างให้เกิดเครือข่ายนักพัฒนานโยบายด้าน อววน. ของประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กรและประเทศไปข้างหน้า

ตามมาด้วย สอวช. ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดงานเสวนานานาชาติ ในหัวข้อ Realizing Bio-Circular-Green Economy: Promoting Circular Economy through Technology, Innovation, and Business Models เพื่อนำเสนอแนวคิดของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี โดยเชิญวิทยากรจากทั้งภาครัฐ องค์การระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน รวมถึงภาคการศึกษา มาร่วมเวทีบรรยายแบ่งบันประสบการณ์และสนับสนุนบทบาทของเทคโนโลยี นวัตกรรม และบทบาทของภาคธุรกิจ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค

นอกจากนี้ สอวช. ยังได้จัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดย สอวช. ได้เสนอประเด็นมาตรการและกลไก อววน. เพื่อการขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานราก โดยศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่ทั้งรัฐบาลและสังคมให้ความสนใจ และมีความเชื่อมโยงกับการขยับฐานะประชากรกลุ่มฐานราก หากสังคมใดมีการขยับฐานะประชาชนกลุ่มฐานรากให้สูงขึ้นได้ก็จะถือว่าดีมาก

และในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ สอวช. ได้จัดรายการ Future Talk by NXPO ตอนที่ 8 ในหัวข้อ “Higher Education Sandbox กลไกการศึกษาใหม่ตอบโจทย์ความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต” ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบการมอบอำนาจให้ สอวช. ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดย Higher Education Sandbox เป็นการทดลองเพื่อหากลไก ระเบียบวิธี หรือวิธีการจัดการศึกษาในระดับที่เป็นนวัตกรรมทางการอุดมศึกษา และเป็นวิธีที่ต้องก้าวข้ามขีดจำกัดของเกณฑ์มาตรฐานเดิม สิ่งสำคัญคือในปัจจุบันสถานการณ์การอุดมศึกษาไทยและโลกเปลี่ยนไปมาก ส่วนที่ต้องให้ความสนใจคือการผลิตคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิต (Demand Driven) จึงนำมาซึ่งแนวคิดการทดลองเรื่องของแซนด์บ็อกซ์ ที่จะพัฒนาหลักสูตรใหม่หรือวิธีการจัดการศึกษาแบบใหม่ เพื่อผลิตคนให้ตอบความต้องการของสถานประกอบการ และเท่าทันความต้องการของประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ

ปิดท้ายด้วยการเปิด 58 หลักสูตรสะเต็ม ซึ่งพัฒนาโดย 12 หน่วยฝึกอบรมชั้นนำ โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 58 หลักสูตร และยังมีอีกกว่า 222 หลักสูตรที่ยังรอการพิจารณา ซึ่งทุกหลักสูตรต้องสอดคล้องกับความต้องการทักษะบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ผ่านการรับรองตามมาตรการ Thailand Plus Package โดยผู้ประกอบการที่ส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรเหล่านี้ สามารถนำไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ถึง 250% ของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้าง 

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าดูหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองหรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stemplus.or.th

ติดตามชมกิจกรรมได้ที่ https://youtu.be/E85WPF-P9BM



ข้อมูลจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 

ภาพจาก สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง