รีเซต

เปิดตัวรถขุดต้นแบบสำหรับเก็บฮีเลียม-3 จากดวงจันทร์ เทคโนโลยีขุดเจาะบนอวกาศ

เปิดตัวรถขุดต้นแบบสำหรับเก็บฮีเลียม-3 จากดวงจันทร์ เทคโนโลยีขุดเจาะบนอวกาศ
TNN ช่อง16
18 พฤษภาคม 2568 ( 01:21 )
17

บริษัท อินเตอร์ลูน (Interlune) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านทรัพยากรอวกาศ เปิดตัวรถขุดต้นแบบขนาดเท่าจริงสำหรับใช้งานบนดวงจันทร์ ซึ่งออกแบบมาเพื่อขุดเรโกลิธหรือดินผิวดวงจันทร์ได้มากถึง 100 เมตริกตันต่อชั่วโมง โดยมีเป้าหมายเพื่อสกัดฮีเลียม-3 ไอโซโทปหายากที่มีศักยภาพสูงในการใช้กับปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน การผลิตพลังงาน และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ

ความร่วมมือครั้งนี้เกิดจากข้อตกลงระหว่างบริษัท อินเตอร์ลูน (Interlune) และบริษัท เวอร์เมียร์ (Vermeer Corporation) ผู้ผลิตอุปกรณ์อุตสาหกรรมชื่อดังที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 75 ปี โดยเจสัน แอนดริงกา (Jason Andringa) ซีอีโอของบริษัท เวอร์เมียร์ ยังได้เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาของบริษัท Interlune เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งในอวกาศและบนโลก

ร็อบ เมเยอร์สัน (Rob Meyerson) ซีอีโอของ Interlune กล่าวถึงความร่วมมือว่า “เมื่อพูดถึงการใช้อุปกรณ์บนดวงจันทร์ ความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพต้องอยู่ในระดับใหม่ การที่บริษัท Vermeer เข้ามามีบทบาทในโครงการนี้ จึงเป็นการยกระดับศักยภาพในการปฏิบัติงานบนดวงจันทร์อย่างแท้จริง”

ภาพเรนเดอร์ของ Interlune Harvester ซึ่งจะผสานฮาร์ดแวร์ขุดที่ได้รับการพัฒนาร่วมกับ Vermeer


รถขุดของ Interlune เป็นระบบขั้นแรกในกระบวนการ 4 ขั้นตอน สำหรับการเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากอวกาศ ได้แก่ การขุด การคัดแยก การสกัด และการแยก โดยเครื่องขุดได้รับการออกแบบให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง ลดแรงต้าน ลดพลังงานที่ใช้ และลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น เมื่อเทียบกับเทคนิคขุดแบบเดิม บริษัทยังไม่เปิดเผยข้อมูลเชิงเทคนิคของรถขุดต้นแบบออกมามากนัก

แกรี่ ไหล (Gary Lai) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของ Interlune ระบุว่า การขุดเพื่อเก็บฮีเลียม-3 ในอัตราสูงเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และโครงการต้นแบบนี้นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ โดยมีการทดสอบเวอร์ชันจำลองแรงโน้มถ่วงบนเที่ยวบินพาราโบลาและในห้องทดลองของบริษัทที่เมืองซีแอตเทิลอย่างต่อเนื่อง

ฮีเลียม-3 ซึ่งมีอยู่มากบนดวงจันทร์แต่พบได้น้อยมากบนโลก อาจกลายเป็นสิ่งที่ต้องการในหลายอุตสาหกรรม เช่น ด้านพลังงานฟิวชัน คอมพิวเตอร์ควอนตัม การแพทย์ และความมั่นคงแห่งชาติ โดยบริษัท Interlune ตั้งเป้าที่จะเป็นบริษัทแรกที่นำทรัพยากรจากอวกาศมาใช้ในเชิงพาณิชย์ และจัดจำหน่ายให้ทั้งภาครัฐและเอกชน

บริษัท อินเตอร์ลูน (Interlune) ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน องค์การนาซา (NASA), Tech Flights และมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (NSF) รวมถึงสามารถระดมทุนจากภาคเอกชนได้รวมกว่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 657 ล้านบาท โดยมีแผนส่งภารกิจสำรวจดวงจันทร์หลายครั้งในช่วงปลายทศวรรษนี้ เพื่อเริ่มต้นการเก็บเกี่ยวฮีเลียม-3 อย่างจริงจังในอนาคตอันใกล้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง