รีเซต

จิ๋วแต่แจ๋ว ! อุปกรณ์จิ๋วใส่หูช่วยทำนายอาการเป็นลม

จิ๋วแต่แจ๋ว ! อุปกรณ์จิ๋วใส่หูช่วยทำนายอาการเป็นลม
TNN ช่อง16
19 มิถุนายน 2566 ( 17:32 )
69

เมื่อวันอังคารที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา สเตท เฮลท์ (STAT Health) บริษัทสตาร์ตอัพด้านสุขภาพดิจิทัล เปิดตัว STAT (สเตทอุปกรณ์ช่วยติดตามอัตราการเต้นหัวใจ ค่าการไหลเวียนโลหิตในสมองและความดันโลหิต เจาะตลาดผู้ป่วยที่มักมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม ไปจนถึงคนที่มีภาวะลองโควิด (Long covid) และกลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่า (Postural Orthostatic tachycardia syndrome: POTS) โดยสามารถสวมใส่ในหู (In-ear) วัดข้อมูลสุขภาพได้ 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องถอด 


สเตทคืออะไร

สเตท เป็นอุปกรณ์ขนาดจิ๋วสำหรับสวมใส่ในหู ตัวอุปกรณ์มีรูปทรงเรียวยาวคล้ายเม็ดถั่ว ขนาดเล็กประมาณ 1 ข้อนิ้วมือ ซึ่งถือว่าเล็กกว่าหูฟังทั่วไปอยู่พอสมควร และสามารถสวมไว้บริเวณช่องว่างระหว่างกระดูกอ่อนบนใบหู ไม่ได้ใส่เข้าไปในรูหูตรง ๆ เหมือนหูฟังทั่วไป ทำให้ผู้ใช้งานสามารถสวมแว่น หรือใส่หูฟัง เพื่อฟังเพลงขณะใช้งานสเตทได้ตามปกติ นอกจากนี้ตัวอุปกรณ์มีซิลิโคนนิ่ม ๆ ช่วยไม่ให้อุปกรณ์หลุดเลื่อนจากหูอีกด้วย


นอกจากนี้ภายในสเตท ยังมีแบตเตอรี่ขนาดจิ๋วอยู่ภายใน ซึ่งใช้งานได้นานประมาณสามวัน และยังมีแผงโซลาร์เซลล์ขนาดจิ๋วช่วยชาร์จพลังงานจากแสงอาทิตย์ ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องถอดอุปกรณ์ไปชาร์จทุกวัน ใส่ติดหูได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามค่าไบโอเมตริก (Biometric) หรือลักษณะเฉพาะทางชีวภาพของแต่ละบุคคลและการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานในทุกวัน


ภาพจาก Massdevice


สเตททำงานอย่างไร ?

สเตทประกอบไปด้วย เซนเซอร์ออปติคัล หรือ เซนเซอร์ชนิดใช้แสง (Optical sensor), เซนเซอร์วัดความดัน,  เซนเซอร์อุณหภูมิ และแอคเซเลอโรมิเตอร์ (accelerometer) หรือตัวตรวจจับการเคลื่อนไหวขนาดเล็ก ซึ่งนิยมใช้กันในสมาร์ตโฟน เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของเส้นเลือดแดงบริเวณลำคอและสมองเป็นหลัก


โดยสเตทตรวจจับการเคลื่อนไหว และการลุกยืนของผู้ใช้โดยอัตโนมัติ เพื่อติดตามว่าอัตราการเต้นของหัวใจ ค่าความดันโลหิต และปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงศีรษะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หรือเกิดความผิดปกติตรงไหน เช่น ค่าความดันตกฮวบขณะลุกขึ้นยืน และคำนวณข้อมูลสุขภาพเชิงลึกแสดงผลให้ผู้ใช้ผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ 


ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยให้ผู้ใช้รู้ว่าร่างกายของตนมีสัญญาณความผิดปกติตรงส่วนไหนเป็นพิเศษ และไปตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงกับผู้เชี่ยวชาญต่อไป นอกจากนี้ ผลการศึกษาซึ่งผ่านประเมินวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญตีพิมพ์ในวารสารวิทยาลัยโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (Journal of the American College of Cardiology) ยังเผยว่าอุปกรณ์สเตทสามารถ “คาดการณ์” ได้ว่าผู้สวมใส่จะเกิดอาการเป็นลมล่วงหน้าได้หลายนาทีอีกด้วย


ทำไมต้องใส่ที่หู ?

หลายคนสงสัยกันไม่น้อยว่าทำไมสเตท เฮลท์ถึงออกแบบให้สวมใส่อุปกรณ์ไว้ในหู ทั้ง ๆ ที่อุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพส่วนใหญ่นิยมนำมาสวมบริเวณข้อมือกันมากกว่า? 


คำถามนี้ แดเนียล ลี ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ สเตท เฮลท์ ได้อธิบายว่า หูอยู่ใกล้กับสมองและเส้นเลือดใหญ่บริเวณลำคอ ทำให้อุปกรณ์ตรวจจับ Biometric (ไบโอเมตริก) หรือลักษณะเฉพาะทางชีวภาพของแต่ละบุคคล เช่น  การไหลเวียนโลหิตในสมอง อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ได้ไม่ต่างจากการวัดจากบริเวณข้อมือ แต่ข้อมูลที่วัดได้จากบริเวณหู จะมีความแม่นยำมากกว่า เพราะการเคลื่อนไหวแขนหรือมือในกิจวัตรประจำวันส่งผลให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้ เช่น การเต้นหัวใจอาจจะเร็วกว่าค่าจริง เป็นต้น 


ทำไมต้องตรวจวัดค่าการไหลเวียนโลหิตในสมองด้วย ?

นอกจากขนาดและสวมใส่ที่หูแล้ว อีกหนึ่งคือข้อแตกต่างของสเตท คือ สเตทยังช่วยตรวจจับค่าการไหลเวียนโลหิตในสมองได้ด้วย โดยผู้พัฒนาอธิบายว่า ผู้ป่วยหลายคนที่มีอาการลองโควิด หรือ POTS มักมีอาการวิงเวียนหน้ามืดเวลาลุกขึ้นยืนเร็วเกินไป 


โดยที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งได้ใช้เทคโนโลยีอัลตราซาวนด์ หรือคลื่นเสียงความถี่สูงตรวจจับค่าการไหลเวียนโลหิตในสมอง (Cerebral Blood Flow :CBF) เพื่อวัดค่าการไหลเวียนโลหิตในร่างกายไปเลี้ยงสมอง และตรวจหา “ภัยเงียบ” หรืออาการทางสมองต่าง ๆ ที่มักเกิดอาการแบบเฉียบพลัน เช่น หลอดเลือดในสมองตีบ และโรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก (Stroke) เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม การวัดค่าการไหลเวียนโลหิตในสมองด้วยเทคโนโลยีอัลตราซาวนด์ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญอย่างมาก ทำให้คลินิกหรือแพทย์ส่วนใหญ่จึงใช้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตช่วยวัดค่าแทน แต่จะมีความแม่นยำน้อยกว่าการใช้เทคโนโลยีอัลตราซาวนด์


แรงบันดาลใจจากภัยเงียบตัวร้ายที่มองไม่เห็น

สำหรับแรงบันดาลใจในการพัฒนาอุปกรณ์ชิ้นนี้ ก็มาจาก "คุณพ่อ" ของผู้พัฒนาเองที่มักเผชิญกับอาการหน้ามืดเป็นลมอยู่บ่อยครั้ง จนวันหนึ่งเกิดเป็นลมแล้วล้มลงกระแทกอย่างรุนแรงจนถึงขั้นซี่โครงหัก เจ้าภัยเงียบตัวร้าย หรืออาการทางสมองที่มองไม่เห็นจากภายนอกนี้เอง จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ลีก่อตั้งบริษัทสเตท เฮลท์ขึ้นมา หวังนำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้ป่วยคนอื่น ๆ เข้าถึงข้อมูลสุขภาพเชิงลึกแบบเรียลไทม์ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันกับพ่อของเขาอีก



ภาพจาก STAT health

แค่ติดตามไม่ได้วินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม ลีกล่าวว่า สเตทแค่ช่วยให้ผู้ทราบข้อมูลทางสุขภาพของตัวเองเฉย ๆ ไม่ได้ตรวจวินิจฉัยโรค หรือรักษาอาการป่วย หากผู้สวมใส่สงสัยว่าตนมีอาการผิดปกติ หรือต้องการการรักษาควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ


ในปัจจุบัน อุปกรณ์สเตทยังไม่มีจำหน่ายแบบซื้อขาด มีระบบจ่ายค่าบริการสมาชิก (Subscription) 50 ดอลลาร์ หรือราว 1,700 บาทต่อเดือน และบริษัทตั้งเป้าลดราคาให้กับสมาชิกระยะยาวด้วยเช่นกัน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถวางมัดจำสั่งจองอุปกรณ์สเตทล่วงหน้าได้ทางเว็บไซต์


ซึ่งทางบริษัทสเตท เฮลท์หวังว่าอุปกรณ์จิ๋วนี้จะช่วยให้ผู้สวมใส่เข้าใจร่างกายของตนเองมากขึ้น และใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยยืนยาวต่อไป



ที่มาข้อมูล CNBC, MassdeviceFinance

ที่มาภาพ Stat-health

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง