รีเซต

ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน 'เด็กไทย' นำความรู้ที่เรียนมาใช้จริงไม่เป็น

ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน 'เด็กไทย' นำความรู้ที่เรียนมาใช้จริงไม่เป็น
TNN ช่อง16
14 ธันวาคม 2566 ( 09:44 )
72
ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน 'เด็กไทย' นำความรู้ที่เรียนมาใช้จริงไม่เป็น



วันนี้ 13 ธันวาคม 2566 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (The Thailand Development Research Institute: TDRI) ได้จัดแถลงข่าวในหัวข้อที่น่าสนใจ คือ ‘ผลสอบ PISA สัญญาณเตือน วิกฤตการศึกษา แก้ปัญหาให้ถูกจุด’ 


โดย TDRI มีทีมคณะวิจัยศึกษาเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของไทย มาเป็นเวลากว่า 10 ปี และในครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะสื่อสารกับสังคมว่าการสอบ ‘PISA’ หรือ Programme for International Student Assessment โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ได้ส่งสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการศึกษาของไทยแล้ว


ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับการเสนอผลการสอบ PISA ของไทยและเราอยากให้มีการวิจารณ์อย่างต่อเนื่องเพราะเสียงของประชาชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการศึกษา


TDRI ต้องการนำเสนอข้อมูลในการวิเคราะห์ ว่า สาเหตุที่ผลการเรียนรู้ของเด็กไทยที่ผลออกมาไม่ค่อยดีนั้น เกิดมาจากอะไร และท้ายสุดพวกเราจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น


พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสและทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา 

 

พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสและทีมนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการประเมิน PISA ครั้งนี้ ได้บอก 4 สิ่งที่สำคัญกับประเทศไทย 


โดยมี 2 เรื่อง คือ 


1. ความสามารถของเด็กไทยเริ่มห่างไกลความสามารถของเด็กทั้งโลกมากขึ้นทุกที 

2. โควิด-19 กระทบทั่วโลกแต่ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนของไทยลดลง 


ส่วนอีก 2 สัญญาณต่อการศึกษาไทย คือ 


1. ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอ เนื่องด้วยหลักสูตรไม่ทันสมัย มีข้อจำกัดเรื่องการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ 

2. เรื่องการศึกษาต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและต้องแก้ให้ถูกจุด


“ในข้อมูลสำคัญเปรียบเทียบให้เห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยห่างจากโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการอ่านที่ไทยห่างจากประเทศกลุ่ม OECD โดยในปีล่าสุดคะแนนทิ้งห่างเกือบ 100 คะแนนแล้ว” พงศ์ทัศ กล่าว 


สำหรับเรื่องระดับความสามารถของเด็ก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีเด็กไทยจำนวนมากยังไม่สามารถนำความรู้ไปใช้งานได้จริงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 


“จำนวนเด็กที่มีความรู้ และนำมาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่อายุ 15 ปี มีจำนวนถึง 65% ไม่สามารถที่จะอ่านจับใจความบทความสั้นๆได้” พงศ์ทัศ กล่าวเสริม


เช่นเดียวกับความรู้เรื่องคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่เด็กไม่สามารถนำความรู้จาก 2 วิชานี้มาใช้แก้ปัญหาหรืออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันได้ ในระบบการศึกษาของเด็กไทย มีเด็กแค่ 1% เท่านั้นที่นำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้


พงศ์ทัศ กล่าวถึง ประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มเด็กที่เก่งและเด็กที่ไม่เก่งที่พบว่าช่องว่างไม่ลดลงตลอด 10 ปี เพียงแต่ในปี 2022 คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าช่องว่างเหมือนจะลดลง แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะ ช่องว่างเกิดจากที่เด็กเก่งมีคะแนนสอบลดลง ช่องว่างจึงลดลงตามกันไป 


ส่วนช่องว่างระหว่างเด็กที่มีฐานะทางบ้านแตกต่างกัน ถ้าแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 25% พบว่า เด็กในกลุ่มที่ฐานะดีที่สุด 25% แรก มีคะแนนสอบสูงกว่าเด็กที่ฐานะยากจน 25% สุดท้าย 


ซึ่งประเทศไทยก็ไม่สามารถที่จะปิดช่องว่างระหว่างสองกลุ่มนี้ได้ตลอด 10 ปี


โควิดส่งผลกระทบกับความสามารถของเด็กหรือผลคะแนนสอบ PISA มากน้อยแค่ไหน?


พงศ์ทัศ อธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า ประเทศไทยปิดโรงเรียนในช่วงโควิด-19 สั้นกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ODCE ผลที่เกิดขึ้นคือ เด็กฐานะดีเอาตัวรอดได้ แต่เด็กฐานะยากจนยังต้องพึ่งพาโรงเรียน 


และที่สำคัญผลการวิจัยพบว่า โควิด-19 ไม่ได้ทำให้คะแนนของเด็กฐานะดีและเด็กฐานะยากจนต่างกันมากขึ้น ฉะนั้นการแพร่ระบาดของโรคไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนหรือความสามารถของเด็กไทยลดลง


จากข้อมูลการสอบของ PISA ทาง TDRI ได้มีข้อเสนอว่าจำเป็นต้องปรับปรุงการศึกษาแบบยกเครื่องและเร่งด่วน และต้องแก้ให้ตรงจุด โดยมีข้อเสนอ 3 ระยะดังนี้ 


1. ระยะสั้น (ภายใน 1 ปี) ต้องแก้อย่างเหมาะสมและตรงจุดที่สุด คือ ต้องพยามลดภาระงานอื่นของครู เพื่อให้ครูสอนได้เต็มที่ โดยที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องควรที่จะทบทวนโครงการต่างๆ ที่โรงเรียนต้องรายงานผล ควรบูรณาการไม่ให้รายงานเยอะจนเกินไป


2. ระยะกลาง(ภายใน 3 ปี) ต้องยกเครื่องหลักสูตร ออกแบบระบบอื่นๆ ให้รองรับตัวหลักสูตรใหม่ให้พร้อมในการเอาไปใช้ จำเป็นที่จะต้องปรับหลักสูตรแกนกลางใหม่ให้อิงสมรรถนะมากขึ้น และส่งเสริมการคิดขั้นสูง เช่น การวิเคราะห์ การประเมิน การสร้างสรรสิ่งใหม่ และการทดลองนำไปใช้


3. ระยะยาว (ดำเนินการต่อเนื่อง) แก้ไขตัวเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการศึกษาไทย คือ การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก รัฐควรที่จะมีนโยบายที่ชัดเจน อาจจะเริ่มจากข้อเสนอของธนาคารโลกเรื่องการบริหารควบรวมและพัฒนาเป็นเครือข่าย 


งบประมาณการศึกษาคือปัญหาที่แก้ไม่จบ


พงศ์ทัศ ระบุว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาประมาณ 10 ปี รัฐบาลไทยลงทุนด้านการศึกษาสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้เท่าๆกัน แต่ปรากฎว่าลงทุนเยอะแต่ผลไม่น่าพอใจ นั่นจึงแสดงว่าปัญหาไม่ใช่ประเทศเรามีเงินไม่พอ แต่ปัญหาคือเราใช้เงินอย่างไร ซึ่งอาจจะใช้เงินไม่ตรงจุด ใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ


ดร.สมเกียรติกล่าวเสริมว่า รัฐบาลมีหน้าที่หลักในการพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้มีคุณภาพสูง ควบคู่ไปกับการลดความเหลื่อมล้ำ แต่ว่าภาคครอบครัว ชุมชน ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กนักเรียนนอกระบบแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือ ต้องช่วยสร้างแรงกดดันให้กับฝ่ายการเมืองให้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำเป็นลักษณะเป็นโปรเจคสั้นๆ แล้วก็หยุดกันไปตามยุค ตามสมัย แต่ต้องทำอย่างเป็นรูปธรรม


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีความเชี่ยวชาญ ประเด็นนี้ 


ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราน่าจะมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ เกิน 20 คน แต่ละคนดำรงตำแหน่งช่วงเวลาสั้นๆ เพราะฉะนั้นก็จะไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปได้ แต่ในช่วงหลังที่การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น เช่น รัฐมนตรีคนก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งนานพอสมควร จึงคาดว่าต่อไปการเปลี่ยนแปลงน่าจะมีเสถียรภาพ พอสมควรตามมา


---------------------------------------------


โครงการประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ (Programme for International Student Assessment) หรือ ปิซา (PISA) เป็นการทดสอบทางการศึกษาจัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ให้แก่ทั้งประเทศสมาชิกและประเทศที่ไม่เป็นสมาชิก มุ่งเน้นวัดความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ในนักเรียนอายุ 15 ปี จั้ดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543 ผลการทดสอบของโครงการฯ มุ่งเน้นให้ประเทศที่เข้าร่วมได้พัฒนานโยบายการศึกษาตลอดจนถึงผลลัพธ์


ประเทศไทย แม้ไม่ใช่สมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ได้เข้าร่วมโครงการนี้โดยมีสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเตรียม การทดสอบ และการนำผลการทดสอบไปใช้


ในปี 2565 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน จากนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคนทั่วโลก โดยประเทศไทยมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน



ภาพ TNNOnline 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง