ผลศึกษามะกันเผย มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากกว่า 1.2 ล้านคน ทั่วโลกในปีเดียว
ข่าววันนี้ 20 มกราคม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จากรายงานในหัวข้อ “การดื้อยาของเชื้อโรค” ของโกล บอลรีเสิร์ช ที่เผยแพร่บนวารสารการแพทย์แลนเซต เปิดเผยว่า ในปี 2019 มีประชากรมากกว่า 1.2 ล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อซึ่งมีสาเหตุจากแบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ หรือโรคมาลาเรีย
ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกได้ย้ำเตือนเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของแบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่ดื้อยา เนื่องมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะในทางที่ผิดและการใช้มากเกินไป ซึ่งกระตุ้นให้จุลินทรีย์พัฒนาเป็น “ซุปเปอร์บั๊ก”
ในรายงานที่วิเคราะห์ข้อมูลจาก 204 ประเทศและดินแดนทั่วโลกระบุว่า การดื้อยาของเชื้อโรค (เอเอ็มอาร์) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตโดยตรงในประชากร 1.27 ล้านคน และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตในประชากร 4.95 ล้านคน
นายคริส เมอร์เรย์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานดังกล่าวระบุว่า “ข้อมูลล่าสุดนี้เปิดเผยให้เห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเชื้อโรคที่ดื้อยาทั่วโลกจริงๆ และก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า จะมีผู้เสียชีวิตจากการดื้อยาราว 10 ล้านคนต่อปีภายในปี 2050 แต่ตอนนี้เรารู้แน่ชัดว่าเราเข้าใกล้ตัวเลขนั้นมากกว่าที่คิด”
เมื่อปีก่อนองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ได้เตือนว่า ไม่มียาปฏิชีวนะใดเลยจากทั้งหมด 43 ยี่ห้อที่กำลังพัฒนาหรือผ่านการอนุมัติแล้ว ที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะต่อสู้กับเชื้อที่ดื้อยาเลย ในขณะที่นายคอร์นีเลียส แคลนซี ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก ระบุว่า หนึ่งในวิธีที่จะจัดการเชื้อที่ดื้อยาคือการหาวิธีการรักษารูปแบบใหม่
ทั้งนี้พื้นที่ที่เผชิญกับปัญหาเชื้อโรคดื้อยามากที่สุด ได้แก่ ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกาและภูมิภาคเอเชียใต้ โดยผู้เสียชีวิต 1 ใน 5 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี