รีเซต

กองทัพสหรัฐฯ พัฒนากระสุนปืนใหญ่เครื่องยนต์แรมเจ็ทเพิ่มระยะยิง 150 กิโลเมตร

กองทัพสหรัฐฯ พัฒนากระสุนปืนใหญ่เครื่องยนต์แรมเจ็ทเพิ่มระยะยิง 150 กิโลเมตร
TNN ช่อง16
17 ตุลาคม 2566 ( 17:27 )
80
กองทัพสหรัฐฯ พัฒนากระสุนปืนใหญ่เครื่องยนต์แรมเจ็ทเพิ่มระยะยิง 150 กิโลเมตร

บริษัทการบินและอวกาศอย่างโบอิ้ง (Boeing) และบริษัทป้องกันประเทศสัญชาตินอร์เวย์อย่างแนมโม (Nammo) ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกองทัพสหรัฐฯ ได้ทดสอบการยิงกระสุนปืนใหญ่ทางอ้อม และสามารถทำลายสถิติพิสัยการยิงได้


ทั้งนี้ปืนใหญ่สมัยใหม่มีความก้าวหน้ามากในด้านต่าง ๆ เช่นความแม่นยำ ระบบการกำหนดเป้าหมายอำนาจการยิง ฯลฯ แต่ยังมีจำกัดในบางความสามารถ โดยเฉพาะระยะการยิง ดังนั้นโบอิ้งและแนมโมจึงได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาปืนใหญ่พิสัยไกลพิเศษประเภทใหม่ในโปรเจ็กต์ XM1155 ของกองทัพสหรัฐฯ ชื่อแรมเจ็ท 155 (Ramjet 155) ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีแรมเจ็ทขั้นสูง แต่ยังสามารถยิงด้วยปืนมาตรฐานได้โดยไม่ต้องดัดแปลง


กระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ถูกยิงจากปืนใหญ่เอ็กเทนด์ เรนจ์ แคนนอน อาทิเลอรี (Extended Range Cannon Artillery หรือ ERCA) ขนาด 58 ลำกล้องที่ศูนย์ทดสอบของกองทัพยูม่า โปรไวดิ้ง กราวน์ (Yuma Proving Ground) รัฐแอริโซนา 


โดยหลักการ คือ กระสุนที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้มีการออกแบบทางเทคนิคภายในที่แตกต่างไปจากเดิม คือ ในกระสุนปืนใหญ่แบบธรรมดาจะมีส่วนที่เรียกว่าฟิวส์ (Fuse) สำหรับควบคุมเวลาและวิธีที่กระสุนจะระเบิด แต่แรมเจ็ท 155 จะมีช่องที่ให้อากาศเข้าไปเพื่อให้อากาศหมุนเวียน ส่งผลดีต่อหลักอากาศพลศาสตร์ นอกจากนี้ด้านในของเปลือกกระสุนยังเคลือบด้วยเชื้อเพลิงจรวดแบบแข็ง ซึ่งไม่มีสารออกซิไดเซอร์ ทำให้ไม่ต้องการตัวออกซิไดเซอร์แยกต่างหาก ส่งผลให้ใช้พื้นที่น้อยลง 


เมื่อกระสุนถูกยิงจากปืนใหญ่ มันจะเร่งความเร็วไปสู่ความเร็วเหนือเสียง หลังจากนั้นระบบขับเคลื่อนแรมเจ็ทจะเริ่มทำงาน โดยการดูดเอาอากาศที่อยู่ด้านหน้ากระสุนเข้ามาผ่านช่องอากาศ จากนั้นบีบอัด เมื่อผสมกับเชื้อเพลิงด้านในมันก็จะเกิดการเผาไหม้ ทำให้เกิดแรงผลักดันให้กระสุนเคลื่อนไปข้างหน้ามหาศาล


ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้แรมเจ็ท 155 สามารถเพิ่มระยะการยิงจากแต่ก่อนที่เคยยิงได้ 22 กิโลเมตร ตอนนี้ยิงไปได้ไกลถึง 150 กิโลเมตรแล้ว หรือเทียบเท่าให้เห็นภาพ สามารถยิงได้ไกลจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดนครราชสีมาเลยทีเดียว 


มอร์เทน บรันต์เซก (Morten Brandtzæg) ซีอีโอของแนมโมกล่าวว่า “การทดสอบยิงครั้งนี้ประสบความสำเร็จทั้งระยะและความแม่นยำที่กองทัพบกต้องการ เทคโนโลยีแรมเจ็ทถือเป็นการปฏิวัติด้านปืนใหญ่ ซึ่งการสามารถขยายระยะการยิงได้ในครั้งนี้จะทำให้กลยุทธ์มีความได้เปรียบมากยิ่งขึ้น”


ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการพัฒนาเพิ่มเติม โดยกระสุนจะถูกรวมเข้ากับระบบนำทางที่แม่นยำ รวมถึงจะมีการทดสอบกับทั้งเป้าหมายที่อยู่นิ่งและกำลังเคลื่อนที่ด้วย



ที่มาข้อมูล NewAtlas, Inceptivemind, Thedefensepost, Boeing.mediaroom

ที่มารูปภาพ Boeing.mediaroom

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง