รีเซต

ภารกิจครั้งประวัติศาสตร์! ยานนาซาแตะดาวเคราะห์น้อย 'เบนนู' เก็บตัวอย่างกลับโลก

ภารกิจครั้งประวัติศาสตร์! ยานนาซาแตะดาวเคราะห์น้อย 'เบนนู' เก็บตัวอย่างกลับโลก
Xinhua
22 ตุลาคม 2563 ( 09:13 )
233
ภารกิจครั้งประวัติศาสตร์! ยานนาซาแตะดาวเคราะห์น้อย 'เบนนู' เก็บตัวอย่างกลับโลก

วอชิงตัน, 21 ต.ค. (ซินหัว) -- วันอังคาร (20 ต.ค.) นาซาเปิดเผยว่ายานสำรวจโอซิริส-เรกซ์ (OSIRIS-REx) ได้ทำภารกิจลงแตะพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) และเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวได้สำเร็จ ถือเป็นภารกิจแรกที่สหรัฐฯ สามารถเก็บตัวอย่างในสภาพสมบูรณ์ดังเดิมจากดาวเคราะห์น้อย เพื่อนำกลับมาศึกษาต่อที่โลก

รายงานสดของนาซาระบุว่ายานสำรวจซึ่งมีขนาดเท่ารถตู้ ได้ใช้แขนของยานแตะตรงจุดลงจอดที่เรียกว่า "ไนติงเกล" เป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนปล่อยไอพ่นเพื่อเคลื่อนตัวออกห่างไปยังระยะปลอดภัยจากเบนนู

ทีมควบคุมภารกิจกล่าวว่าจากข้อมูลเบื้องต้น ภารกิจเก็บตัวอย่างบรรลุล่วงไปตามแผน และจะทราบข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากที่ยานเดินทางกลับมายังโลก

ยานโอซิริส-เรกซ์ใช้เวลา 4.5 ชั่วโมงทำตามลำดับคำสั่งลงจอดบนดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว เพื่อทำการเก็บตัวอย่างโดยอัตโนมัติ โดยยานได้ยิงขวดอัดก๊าซไนโตรเจนออกไป ใช้แรงดันก๊าซทำให้วัตถุบนพื้นผิวของเบนนูกระจายตัว

หัวเก็บตัวอย่างของยานบนแขนกลได้ทำการเก็บตัวอย่างของวัตถุที่กระจายขึ้นมา โดยหัวเก็บตัวอย่างนี้เป็นส่วนเดียวของยานที่ได้สัมผัสกับพื้นผิวของเบนนู ซึ่งตัวอย่างที่เก็บมาได้มีกำหนดการเดินทางมาถึงโลกในเดือนกันยายนปี 2023

"ขอแสดงความยินดีกับทีมโอซิริส-เรกซ์และพาร์ทเนอร์ทุกฝ่ายของนาซาในภารกิจนี้! เรากำลังนำตัวอย่างจากอวกาศครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ยานอะพอลโลกลับบ้าน ถ้าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี นักวิทยาศาสตร์อีกหลายรุ่นจะได้ศึกษาตัวอย่างนี้!" จิม ไบรเดนสไตน์ ผู้บริหารนาซาโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์

ดาวเคราะห์น้อยเบนนูอยู่ห่างจากโลก 200 ล้านไมล์ (ราว 321 ล้านกิโลเมตร) มีรูปร่างเหมือนลูกข่างหมุน เต็มไปด้วยก้อนหิน และมีความสูงเท่ากับขนาดตึกเอ็มไพร์สเตทในนครนิวยอร์ก

ตามรายงานของนาซา เบนนูประกอบไปด้วยวัตถุจากระบบสุริยะจักรวาลยุคเริ่มต้น และอาจมีสารตั้งต้นโมเลกุลของสิ่งมีชีวิตและมหาสมุทรบนโลก

นาซายังกล่าวอีกว่าเบนนูอาจเป็นอันตรายต่อโลกในปลายศตวรรษหน้า มีโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะพุ่งเข้าชนโลก 1 ใน 2,700 ครั้งระหว่างการโคจรเข้าใกล้โลก

ตัวอย่างที่เก็บมาได้นั้น นอกจากจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยที่อาจพุ่งเข้าชนโลกดวงนี้ ยังช่วยให้เข้าใจด้วยว่าสิ่งมีชีวิต และดาวเคราะห์ถือกำเนิดได้อย่างไร

ยานสำรวจโอซิริส-เรกซ์ถูกปล่อยเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2016 และเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยเบนนูเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2018 หลังเดินทางมาถึง ยานโอซิริส-เรกซ์ได้เก็บข้อมูลและภาพผ่านกล้อง เพื่อส่งกลับไปให้ทีมที่โลกศึกษาองค์ประกอบ และวางแผนหาจุดที่ดีที่สุดสำหรับลงจอดเพื่อเก็บตัวอย่าง

โทมัส เซอร์บูเคน รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพันธกิจวิทยาศาสตร์ของนาซา (NASA's Science Mission Directorate) กล่าวว่า "เบนนูเป็นเหมือนศิลาโรเซตตา (Rosetta Stone) ในอวกาศ มันบันทึกประวัติศาสตร์ของโลกและระบบสุริยะจักรวาลหลายพันล้านปีเอาไว้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง